คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การประเมินสมรรถนะด้วยเทคนิคศูนย์การประเมิน (Assessment Center Method) ซึ่งจะจัดในวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2562 เวลา 9:00 – 16:00 น. ณ ห้อง 614 ชั้น 6 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย อาจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการออกแบบกิจกรรม แบบประเมิน เป็นผู้ประเมิน และบริหารจัดการการประเมินสมรรถนะด้วยเทคนิคศูนย์การประเมินให้แก่องค์กรภาครัฐและเอกชนหลายแห่งเป็นเวลามากกว่าห้าปี เป็นวิทยากร
โครงการอบรมมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการประเมินสมรรถนะด้วยเทคนิคศูนย์การประเมิน หลักการเบื้องต้นของการสร้างกิจกรรมศูนย์การประเมิน แบบประเมิน และบทบาทที่เหมาะสมของผู้ประเมินในกิจกรรมศูนย์การประเมิน และสามารถประเมินและเลือกใช้กิจกรรมศูนย์การประเมินแบบต่าง ๆ เพื่อประเมินสมรรถนะที่ต้องการได้
การประเมินสมรรถนะด้วยเทคนิคศูนย์การประเมิน คืออะไร?
การประเมินสมรรถนะ (competency) ไม่ว่าเพื่อรับพนักงานใหม่ นำผลไปวางแผนพัฒนาพนักงาน หรือเลือกคนที่ใช่เข้าสู่ตำแหน่งสำคัญ เช่นผู้นำนั้น มีเครื่องมือให้เลือกใช้หลากหลาย เช่น ข้อสอบวัดความรู้ความสามารถ แบบประเมินทางจิตวิทยาต่าง ๆ เช่น แบบวัดบุคลิกภาพ ทัศนคติ การสัมภาษณ์ การสังเกตการตอบสนองในสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละเครื่องมือมีจุดอ่อนจุดแข็งต่างกันไป
ศูนย์การประเมิน (Assessment Center Method – ACM) คือการใช้เครื่องมือที่หลากหลายเหล่านี้ในการประเมินและนำมาประมวลร่วมกันเพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำยิ่งขึ้น
แต่เครื่องมือที่เป็นจุดเด่นของใน ACM นั้น คือ กิจกรรมจำลองสถานการณ์ (Simulation) ซึ่งกำหนดสถานการณ์หรือโจทย์ให้ผู้ถูกประเมินต้องแสดงพฤติกรรม เช่น การอภิปรายกลุ่ม การตัดสินใจ การทำงานเป็นทีม และให้ผู้ประเมินที่ผ่านการฝึกฝนสองคนขึ้นไป เป็นผู้สังเกตว่าพฤติกรรมที่แสดงออกมาให้เห็นเชิงประจักษ์นั้น สะท้อนสมรรถนะที่ต้องการหรือไม่ มากหรือน้อย
เช่น สมรรถนะด้าน “ความเป็นผู้นำ” หากให้ทำแบบประเมินตนเอง ทุกคนอาจให้คะแนนตนเองสูงเท่ากันหมด แต่อาจเกิดจากการตีความคำว่า ”ผู้นำ” ของแต่ละคนไม่ตรงกัน โดยอาจตีความเข้าข้างตนเองว่าฉันเคยทำแบบนี้เรียกว่าฉันมี “ความเป็นผู้นำ” แล้ว ทั้งที่อาจไม่ตรงกับนิยามสมรรถนะ “ความเป็นผู้นำ” ที่องค์กรต้องการก็ได้
ดังนั้น ผู้ประเมินอย่างน้อยสองคนที่ถูกฝึกฝนการประเมินและเข้าใจตรงกันว่า “ความเป็นผู้นำ” ที่องค์กรนี้ต้องการมีลักษณะอย่างไรและจะแสดงออกมาทางพฤติกรรมอย่างไร ก็จะชี้ตัวบุคคลที่มีความเป็นผู้นำตรงตามที่องค์กรต้องการได้แม่นยำกว่าการดูผลจากการประเมินตนเองของผู้ถูกประเมิน เป็นต้น
ปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศหลายแห่งที่ให้ความสำคัญกับการคัดสรรและบริหารจัดการพนักงานที่มีศักยภาพสูง จึงใช้ ACM ที่มีการจำลองสถานการณ์ลักษณะดังกล่าว เป็นเครื่องมือหนึ่งในการประเมินสมรรถนะของพนักงาน
หัวข้อการฝึกอบรม
ผู้ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการผ่านการอบรมจากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อัตราค่าลงทะเบียน
เงื่อนไขการลงทะเบียน
- กรุณาชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงานก่อนกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียน
- การส่งแบบฟอร์มลงทะเบียน ท่านจะต้องแนบหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนมาด้วย จึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
- เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ท่านทราบภายใน 2 วัน
- บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเข้าร่วมการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
- รับใบเสร็จรับเงินได้ ณ จุดลงทะเบียนหน้างาน
- เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี
แบบฟอร์มชำระค่าลงทะเบียน
แบบฟอร์มสำหรับบุคคลทั่วไป Pay-in slip_ACM_regular_Other_4,500 Baht
แบบฟอร์มสำหรับศิษย์เก่า คณะจิตวิทยา จุฬาฯ Pay-in slip_ACM_alumni_3,500 Baht
แบบฟอร์มสำหรับนิสิตคณะจิตวิทยา จุฬาฯ Pay-in slip_ACM_Student_3,000 Baht
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณกรรณิกา
โทร. 02-218-1305 หรือ email: Kannika.c@chula.ac.th