แค่เชื่อว่า “ทำได้” คุณก็จะ “ทำได้”

Posted by

คำว่า “Hero” เป็นคำโบราณที่มีรากฐานศัพท์มาจากภาษากรีกและถูกนำมาใช้ในภาษาอังกฤษในราวช่วงศตวรรษที่ 16 ในอดีตคำว่า Hero นั้นใช้แทนความหมายของนักรบ (Warrior) ผู้กล้าหาญและเสียสละซึ่งย่อมเป็นบุคคลพิเศษและแตกต่างไปจากคนธรรมดาทั่วไป แต่เดิมคำนี้ยังรวมไปถึงนักรบผู้กล้าในเทพนิยายกรีกโบราณที่มีความเป็นมนุษย์ครึ่งเทพ (Semidivine being) ที่สามารถติดต่อสื่อสารและมีชีวิตได้ทั้งในโลกของมนุษย์และเหนือมนุษย์ไปพร้อม ๆ กัน ต่อมาคำเดียวกันนี้ได้กลายเป็นคำที่นิยมแพร่หลายมากขึ้นเมื่อถูกนำมาใช้เรียก “ยอดมนุษย์” หรือตัวละครเอกในการ์ตูนของมาร์เวลคอมิกส์ซึ่งเป็นค่ายการ์ตูนยอดนิยมของสหรัฐอเมริกาที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1939 ทำให้ Hero หรือยอดมนุษย์ต่าง ๆ มีชื่อเสียงก้องโลกกลายเป็น Super Hero ในเวลาต่อมา การ์ตูนแทบทุกเรื่องเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่นักอ่านทุกเพศทุกวัยที่ได้เสพอรรถรสความบันเทิงของการ์ตูนในยุคแรก ๆ พร้อมกับการเรียนรู้ด้านคุณธรรม ความดี ความกล้าหาญที่สอดแทรกมาในเนื้อเรื่องอย่างแยบยล จนคำว่า HERO กลายเป็นคำติดปากที่ทุกคนคุ้นเคยด้วยพลังบวกจากจินตนาการที่เพียงแค่ได้ยิน หรือสัมผัสของหัวใจที่พองโตขึ้นทันทีหากได้เป็น HERO ในใจของใครคนใดคนหนึ่ง จนถึงปัจจุบันในสถานการณ์ของโรคระบาด HERO ได้ถูกใช้เป็นคำยกย่องต่อบุคลากรในแวดวงการรักษาพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง Ruth Marcus ผู้หญิงเก่งผู้เป็นทั้งนักวิจารณ์และนักข่าวทางการเมืองชาวอเมริกันและยังเป็นคอลัมนิสต์ให้กับสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง The Washington Post เคยกล่าวสรรเสริญบุคลากรและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และพยาบาลรวมถึงหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนในการต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาดที่ต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งต่อตัวเองและครอบครัวว่าทุกคนคือ HERO ผู้เสียสละ อุทิศตนเองอย่างใหญ่หลวงเพื่อภารกิจการให้ความช่วยเหลือทุกคนให้ได้มีชีวิตอยู่รอดอย่างปลอดภัย (Marcus, 2020)

.

องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่าสถานการณ์การระบาดใหญ่ของ Covid-19 เป็นวิกฤตที่โลกของเราไม่เคยเผชิญมาก่อน (WHO, 2020) และส่งผลกระทบต่อบุคคล ครอบครัว และชุมชน ทั้งต่อวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน สุขภาพจิต ความเครียดตลอดจนความเป็นอยู่ของผู้คน (Holmes et al., 2020, Rajkumar, 2020) จากผลการวิจัยพบว่า ประชากรมากถึงร้อยละ 30 อาจได้รับผลกระทบจากความเครียด ความซึมเศร้า และความวิตกกังวล หลังจากการกักตัว (Odriozola- González et al., 2020) ในช่วงเวลาแห่งความกลัวและความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แม้เราจะหันหา HERO ผู้กล้าที่จะมาช่วยเหลือเราไม่พบเหมือนในการ์ตูนได้ แต่เราทุกคนสามารถสร้าง HERO ขึ้นได้ในใจของเราเองเพราะคนเรามักต้องการทรัพยากรทางจิตใจเพื่อมาช่วยลดความเครียด และทุนทางจิตวิทยา (PsyCap) คือ HERO ที่สามารถช่วยให้ผู้คนรักษาไว้ซึ่งสุขภาพจิตที่มีคุณภาพได้สำเร็จโดยการช่วยเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีและลดระดับความวิตกกังวลและอาการภาวะซึมเศร้าที่รุกเร้าเข้ามาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ท้าทายที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บุคคลที่มีทรัพยากรทางจิตใจที่มากกว่าจะได้รับผลกระทบทางลบน้อยกว่าจากสถานการณ์ชีวิตที่ตึงเครียดมากมายที่แวดล้อมอยู่รอบตัว

.

บทความนี้เป็นตอนสุดท้ายแล้วในชุดของบทความสี่ตอนจบเกี่ยวกับต้นทุนทางจิตวิทยาของคนเราที่นำเอาพยัญชนะหลักในแต่ละองค์ประกอบของตัวแปรทางจิตวิทยาทั้ง 4 ด้านร่วมกันสร้างเป็นตัวแปรใหม่อันทรงพลังที่เรียกว่า ทุนทางจิตวิทยา หรือ HERO หากท่านผู้อ่านได้ติดตามมาตั้งแต่ต้นและทำความเข้าใจกับตัวแปรทางจิตวิทยาทั้ง 3 ด้านที่ผ่านมาแล้ว ได้แก่

ความหวัง (Hope)

ความสามารถในการฟื้นพลัง (Resilience)

และ การมองโลกในแง่ดี (Optimism)

ซึ่งทั้งหมดล้วนเปี่ยมไปด้วยพลังทางบวกในการช่วยป้องกันและยกระดับของอารมณ์ ความรู้สึก และทัศนคติของบุคคลต่อสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการทำงานหรือในด้านของสุขภาพ และในตอนสุดท้ายนี้ ขอกล่าวถึงองค์ประกอบด้านสุดท้ายคือการรับรู้ความสามารถของตนเอง หรือ Self Efficacy โดยนำพยัญชนะตัวอักษร E ในคำว่า Efficacy มาประกอบจนเป็นคำว่า HERO ที่สมบูรณ์และเป็นที่รู้จักกันดี

.

ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถตนเองนั้น พัฒนามาจาก ทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคม (Social Learning Theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเทคนิคที่นำมาใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเรา ทฤษฎีนี้พัฒนาโดยนักจิตวิทยาชาวแคนาดาคือ Albert Bandura โดย Bandura ได้ศึกษาความเชื่อของบุคคลเกี่ยวกับความสามารถของตนเอง (Self Efficacy) ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำหรือการมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งความเชื่อนี้มีอิทธิพลช่วยให้บุคคลเกิดความมั่นใจในตนเอง สามารถปฏิบัติตนหรือมีพฤติกรรมเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ต้องการได้ หลังจากบทความของ Bandura เรื่อง Self-Efficacy: Toward a Unifying Theory of Behavioral Change ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Psychological Review ในปี 1977 Self Efficacy ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ถูกนำไปค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องมากที่สุด ที่ช่วยพัฒนามุมมองและความรู้ความเข้าใจในคุณประโยชน์ของตัวแปรให้กระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น เช่น Stajkovic และคณะ (1998) พบว่าการรับรู้ความสามารถของตนเองมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและเป็นไปในทางบวกกับผลการปฏิบัติงาน และพบว่าความพึงพอใจในงานกับผลการปฏิบัติงานนั้นมีความสัมพันธ์ต่อกัน จึงเป็นไปได้มากว่า การรับรู้ความสามารถของตนเองกับความพึงพอใจในงานนั้นย่อมมีความเกี่ยวข้องกัน ต่อมา  Özkalp (2009) เคยกล่าวไว้ว่า การรับรู้ความสามารถของตนเองนั้น ไม่ใช่ความสามารถของแต่ละบุคคลที่มี แต่เป็น “ความเชื่อ” (Belief) ของแต่ละบุคคลเกี่ยวกับความสามารถที่ตนมีอยู่ บุคคลที่เชื่อว่าตนเองมีความสามารถก็จะสามารถพัฒนาตนเองให้บรรลุถึงเป้าหมายอย่างประสบความสำเร็จได้ Caprara และคณะ (2003) ให้คำนิยามไว้ว่า การรับรู้ความสามารถของตนเองนั้นเป็นพลังในการไปสู่เป้าหมายของงานที่หลากหลาย และการประสบความสำเร็จในบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมาย

.

เมื่อคนเรามีความเชื่อว่าตนเองนั้นมีความสามารถ บุคคลนั้นจะบริหารจัดการกับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งได้เป็นอย่างดี สามารถใช้ทักษะที่ตนมีอยู่ ในการจัดการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ การรับรู้ความสามารถของตนเองนั้นจึงไม่ได้หมายถึงเพียงสิ่งที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะทำ แต่หมายถึงสิ่งที่บุคคลนั้นมีความเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้ ซึ่งความเชื่อมั่นนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้นักจิตวิทยาเข้าใจและทำนายว่าบุคคลจะทำหรือไม่ทำพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ ยกตัวอย่างในบริบทของสุขภาพ เช่น หากบุคคลเชื่อว่าตนเองไม่มีความสามารถ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ความเชื่อนี้ส่งผลให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าการควบคุมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายหรือการเลิกสูบบุหรี่เป็นเรื่องยากที่เกินไป ทำไม่ได้แน่ ๆ และส่งผลให้ไม่ลงมือทำพฤติกรรม ๆ ปัจจัยที่ส่งผลให้บุคคลสามารถพัฒนาความเชื่อเกี่ยวกับความสามารถของตนเองนั้น มีอยู่ 4 ปัจจัย ดังต่อไปนี้  (Bandura ,1994)

.

การเรียนรู้จากประสบการณ์ความสำเร็จของตนเอง (Mastery experiences) เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเสริมสร้างและพัฒนาความรู้สึกเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองโดยผ่านทางการรับรู้จากประสบการณ์ความสำเร็จของตนเองซึ่งความสำเร็จต่าง ๆ ที่ผ่านมานั้น จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นที่แข็งแกร่งในความสามารถส่วนตัวของแต่ละบุคคล ในทางกลับกันความล้มเหลวจะคอยบั่นทอนความเชื่อมั่นนั้นให้พังทลายลงได้ โดยเฉพาะในเวลาที่ความล้มเหลวเกิดขึ้นก่อนที่ความเชื่อมั่นของแต่ละคนจะก่อกำเนิดเป็นรูปเป็นร่างที่มั่นคงแข็งแรง

การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของผู้อื่นโดยการพบเห็น การรับฟังหรือรับรู้มา (Vicarious experiences) เป็นอีกวิธีที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและพัฒนาคุณลักษณะทางจิตวิทยานี้ให้แข็งแกร่งขึ้น โดยผ่านการรับรู้จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสหรือผ่านตามาจากคนอื่นหรือรียกว่า “ตัวแบบ” (Modelling)  ซึ่งในช่วงหลายปีนี้ มักเกิดขึ้นผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพราะเป็นช่องทางที่ผู้เรียนรู้สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีการผลิตเนื้อหาที่น่าสนใจ การได้มองเห็นผู้อื่นที่ดูคล้ายกับตนเองทำพฤติกรรมบางอย่างและประสบความสำเร็จทำให้ผู้เฝ้ามองรู้สึกได้ว่าตนเองน่าจะมีความสามารถในการลงมือทำกิจกรรมนั้น ๆ ให้สัมฤทธิ์ผลได้เช่นเดียวกัน การรับรู้ถึงความสามารถของตนเองจากการสังเกตตัวแบบนั้นจึงขึ้นอยู่กับการรับรู้ถึงความใกล้เคียงของตนเองกับตัวแบบนั้น ๆ ด้วย ยิ่งถ้าหากมีความใกล้เคียงกันมาก ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามมากขี้นและมีการเลียนแบบจนประสบความความสำเร็จและถึงแม้อาจจะเกิดความล้มเหลวบ้างแต่ก็ไม่ล้มเลิกพฤติกรรมง่าย ๆ ถ้าคนเรามองเห็นตัวแบบที่มีความแตกต่างไปจากตนเองมาก ตัวแบบที่แตกต่างนี้ก็จะไม่ค่อยส่งผลต่อการพัฒนาการรับรู้ความสามารถของตนเอง

การถูกชักนำหรือจูงใจจากสิ่งต่าง ๆ ในสังคม (Social persuasion) การจูงใจทางสังคมเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้คนเรานั้นมีความเชื่อว่าตนเองมีคุณสมบัติบางอย่างที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ บุคคลที่ได้รับคำชมเชย คำชื่นชมในความสำเร็จ หรือ ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถในการบริหารจัดการงานที่ได้รับมอบหมายได้ดีเยี่ยม บุคคลมักมีแนวโน้มที่จะขับเคลื่อนความพยายามของตนเองได้มากขึ้นและรักษาระดับของรู้สึกนั้นไว้ได้ดีกว่าบุคลลที่จะเริ่มต้นทำงานด้วยความไม่แน่ใจในความสามารถของตัวเอง ผู้ที่ขาดความมั่นใจในตนเองมักจะจมอยู่กับความบกพร่องของตนเมื่อต้องจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นการได้รับการสนับสนุนหรือคำชื่นชมทำให้บุคคลได้รับรู้ถึงความสามารถของตนเอง ส่งผลให้บุคคลเกิดความพยายามที่จะก้าวไปสู่การประสบความสำเร็จ การได้รับคำชมหรือการแนะนำจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านทักษะ กระตุ้นความมานะพยายามเพื่อฝึกฝนจนเกิดความชำนาญและรู้สึกได้ถึงความสามารถของตนเองในแต่ละบุคคลด้วย

สภาวะที่เกิดขึ้นภายในร่างกายและอารมณ์ของตนเอง (Physiological and emotional states) สภาวะทางร่างกายและอารมณ์ในทางลบส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของบุคคลเกี่ยวกับความสามารถของตนเองได้ กล่าวคือ บุคคลที่มีความเหนื่อยล้า มีความเครียด และอารมณ์ด้านลบ เช่น สับสนหรือวิตกกังกล มักจะขาดความสามารถในการบริหารจัดการงานต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้ และเมื่อทำงานนั้นแล้วก็ไม่สัมฤทธิ์ผล ยิ่งจะทำให้การรับรู้ความสามารถของตนเองในตัวบุคคลนั้นยิ่งลดต่ำลง ทำให้ขาดความเชื่อมั่น คิดว่าตนเองมีความสามารถไม่เพียงพอ เกิดความลังเลใจจนทำให้การตัดสินใจขาดประสิทธิภาพ หากบุคคลมีการจัดการกับความเครียดได้อย่างเหมาะสมรวมทั้งการปรับอารมณ์เชิงลบให้เป็นบวก จะช่วยให้บุคคลทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและประสบความสำเร็จในการทำงานนั้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้บุคคลเกิดการรับรู้ความสามารถของตนเองได้

.

นอกจากนั้นแล้ว การรับรู้ความสามารถของตนเองมีบทบาทสำคัญอย่างมากในงานด้านจิตวิทยาสุขภาพ (Health psychology) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและความใส่ใจต่อโภชนาการของคนเรารวมถึงอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ด้วย ปัจจุบันผู้ป่วยมักป่วยและเสียชีวิตจากโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (Non-Communicable Diseases) เช่น มะเร็ง เบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตและทำพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า งานวิจัยจำนวนมากพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพเหล่านั้นให้ประสบความสำเร็จคือการรับรู้ความสามารถของตนเอง ดังนั้นการส่งเสริมให้บุคคลที่มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองในการทำพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การเลิกพฤติกรรมสูบบุหรี่ การเลิกพฤติกรรมดื่มสุรา การออกกำลังกาย การควบคุมหรือลดน้ำหนักของตัวเอง การวางแผนการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ จะส่งผลให้บุคคลสุขภาพดีห่างไกลจากโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อได้

.

ในย่อหน้าสุดท้ายของบทความเรื่อง การมองโลกในแง่ดี ที่ได้เผยแพร่ไปแล้วนั้น ผู้เขียนได้ทิ้งท้ายเอาไว้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการมองโลกในแง่ดีกับการรับรู้ความสามารถของตนเองว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร กล่าวคือในปี 2011 มีการศึกษาวิจัยในกลุ่มพยาบาลในประเทศไต้หวันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาวะซึมเศร้า การรับรู้ความสามารถของตนเอง และการมองโลกในแง่ดี (Chang et al., 2011) ผลการวิจัยพบว่าการมองโลกในแง่ดีและการรับรู้ความสามารถของตนเองนั้นสามารถช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าได้อย่างมีนัยสำคัญ ในบริบทของการทำงาน มีงานวิจัยที่ศึกษาถึงการรับรู้ความสามารถของตนเองและการมองโลกในแง่ดีในฐานะตัวแปรทำนายความผูกพันต่อองค์กร (Organizational commitment) ของพนักงานธนาคาร (Akhter et al., 2012) พบว่าการรับรู้ความสามารถในตนเองและการมองโลกในแง่ดีมีความสัมพันธ์กันทางบวก นั่นคือเมื่อพนักงานมีการรับรู้ความสามารถของตนเองที่เพิ่มมากขึ้น การมองโลกในแง่ดีจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยหรืออีกนัยหนึ่งคือเมื่อพนักงานมองโลกในแง่ดีมากขึ้นย่อมรับรู้ถึงความสามารถในตนเองที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนั้น งานวิจัยศึกษาการรับรู้ความสามารถของตนเองในกลุ่มครู (Teacher self-efficacy ) และการมองโลกในแง่ดีในเชิงวิชาการเฉพาะบุคคล (Individual academic optimism) ในฐานะตัวแปรทำนายของการเรียนรู้อย่างมืออาชีพของครู (Teacher professional learning) กลุ่มตัวอย่างจำนวน 300 คนในจังหวัดคาราบัก (Karabuk) ประเทศตุรกี (Kılınç et al., 2021) ผลการศึกษานี้พบว่าตัวแปรทุกตัวมีความสัมพันธ์ต่อกันในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญ และการรับรู้ความสามารถของครูสามารถทำนายการมองโลกในแง่ดีเชิงวิชาการและการเรียนรู้อย่างมืออาชีพได้ในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน ผลการศึกษาช่วยสนับสนุนโมเดลเชิงโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่นำมาศึกษาเพื่อแสวงหาแนวทางที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาอาชีพครูต่อไป  

.

ในสถานการณ์ของโรคระบาด COVID-19 ที่คนทั้งโลกกำลังรับมืออยู่ มีงานวิจัยมากมายที่ศึกษาบทบาทของการรับรู้ความสามารถของตนเองในการรับมือวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ดังกล่าว งานวิจัยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความสามารถของตนเอง ความวิตกกังวล (Anxiety) และการนอนที่ผิดปกติ (Sleep disorder) ของพยาบาลในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 (Simonetti et al., 2021) ศึกษากับกลุ่มพยาบาล 1,005 คนจากหลายโรงพยาบาลในประเทศอิตาลี พบว่าพยาบาลมีปัญหาในการนอนหลับสูงมากถึงร้อยละ 71.40  มีความวิตกกังวลในระดับปานกลางร้อยละ 33.23 และมีความเชื่อในความสามารถของตนเองอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 50.65 ผลการวิจัยพบสหสัมพันธ์ในทางบวกระหว่างความวิตกกังวลกับปัญหาคุณภาพการนอนหลับ และสหสัมพันธ์ในทางลบระหว่างการรับรู้ความเชื่อมั่นของตนเองกับความวิตกกังวลและความผิดปรกติของการนอนหลับด้วย ส่วนในประเทศจีนมีงานวิจัยที่เก็บข้อมูลจากบุคลากรผู้ให้บริการสาธารณสุขในชุมชน (Community mental health care workers) ในช่วงเดือนมีนาคมปี 2020 เพื่อศึกษาถึงความเครียดในการทำงาน (Occupational stress) สุขภาพจิต (Mental health) และการรับรู้ความสามารถของตนเอง (Sun et al., 2021) ผลการศึกษาพบว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชนที่เป็นกลุ่มเฝ้าระวังในช่วงกักตัว จะมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลที่สูงกว่าบุคลากรโดยทั่วไป และการได้รับการฝึกอบรมทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอารมณ์ทางบวกและการรับรู้ความสามารถของตนเองจะช่วยทำให้บุคคลมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองมากยิ่งขึ้น ผลกระทบที่เกิดจากความเครียดในงานที่สะสมเพิ่มมากขึ้นนั้นสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดที่ช่วยสนับสนุนการกำหนดหน้าที่ในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ได้อย่างสมเหตุสมผลและช่วยป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิตของพนักงานได้

.

บทความเกี่ยวกับ HERO ที่ผ่านมาทั้ง 3 ตอนรวมทั้งบทความในตอนนี้ ได้แสดงให้เห็นว่า องค์ประกอบทั้ง 4 ด้านของทุนทางจิตวิทยา ได้แก่ ความสามารถในการฟื้นพลัง (Resilience) ความหวัง (Hope) การมองโลกในแง่ดี (Optimism) และ การรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-Efficacy) แต่ละองค์ประกอบล้วนมีความสำคัญ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและยังเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลช่วยส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกอื่น ๆ ทั้งในบริบทของการทำงานหรือการดูแลสุขภาพ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่า คุณลักษณะทางจิตวิทยาทั้ง 4 ประการนี้ เมื่อนำมารวมกันเป็นทุนทางจิตวิทยาจะเป็นตัวแปรที่มีโครงสร้างในระดับที่สูงขึ้น (Higher order construct) มีความแม่นยำในการทำนายพฤติกรรมการทำงานหรือความพึงพอใจในการทำงานมากกว่าการวิเคราะห์โดยแยกองค์ประกอบทุนทางจิตวิทยาเป็นด้านย่อย ๆ (Avey et al. 2011) อย่างไรก็ตาม การดำรงรักษาไว้ซึ่งคุณลักษณะที่ดีทั้ง 4 ด้าน ทำให้เรามีต้นทุนจิตวิทยาที่ช่วยเราเตรียมความพร้อมที่จะเผชิญกับอุปสรรคหรือความทุกข์ร้อนใจที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละวัน การหมั่นพัฒนาและเสริมสร้างทุนทางจิตวิทยาในตนเองให้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้มากที่สุดย่อมจะช่วยให้ชีวิตที่ถูกกระทบจากสถานการณ์แวดล้อมที่หลากหลายและไม่คาดฝันหรือเกิดขึ้นได้ในทุกระดับของความรุนแรง จะยังคงประคองชีวิตและจิตใจของตนเองให้ก้าวเดินต่อไปได้ แม้อาจจะซวนเซบ้างในช่วงเวลาหนึ่ง คงไม่นานจะกลับมาหยัดยืนและเป็น HERO ให้กับสมาชิกอันเป็นที่รักในครอบครัว ลูกน้องในสถานที่ทำงาน และหลายคนที่ยังอ่อนแอและอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ต่อไป

.

รายการอ้างอิง

Akhter, S., Ghayas, S., & Adil, A. (2012). Self-efficacy and optimism as predictors of organizational commitment among bank employees. International Journal of Research Studies in Psychology, 2(2).

Avey, J.B., Reichard, R.J., Luthans, F., Mhatre, K.H. (2011) Meta-analysis of the impact of positive psychological capital on employee attitudes, behaviors, and performance. Hum Resour Dev Q 22(2):127–152

Bandura, A. (1994). Self-efficacy. In V. S. Ramachaudran (Ed.), Encyclopedia of human behavior (Vol. 4, pp. 71–81). New York: Academic Press. (Reprinted in Encyclopedia of mental health, by H. Friedman, Ed., 1998, San Diego: Academic Press.)

Caprara, G. V., & Cervone, D. (2003). A conception of personality for a psychology of human strengths: Personality as an agentic, self-regulating system. In L. G. Aspinwall & U. M. Staudinger (Eds.), A psychology of human strengths: Fundamental questions and future directions for a positive psychology (pp. 61–74). American Psychological Association.

Chang, Y., Wang, P. C., Li, H. H., & Liu, Y. C. (2011). Relations among depression, self-efficacy and optimism in a sample of nurses in Taiwan. Journal of Nursing Management, 19(6), 769–776.

Holmes EA, O’Connor RC, Perry VH, et al. (2020) Multidisciplinary research priorities for the COVID-19 pandemic: A call for action for men- tal health science. The Lancet Psychiatry 7(6): 547–560.

Kılınç, A. Ç., Polatcan, M., Atmaca, T., & Koşar, M. (2021). Teacher Self-Efficacy and Individual Academic Optimism as Predictors of Teacher Professional Learning: A Structural Equation Modeling. Egitim ve Bilim, 46(205), 373–394.

Odriozola-González P, Planchuelo-Gómez Á, Irurtia MJ, et al. (2020) Psychological symptoms of the outbreak of the COVID-19 confine- ment in Spain. Journal of Health Psychology. Epub ahead of print 30 October 2020.

Özkalp E. A New Dimension in organizational behavior: A positive (positive) approach and organizational behavior issues. Proceedings of 17th National Management and Organization Congress. 2009;491-498. Turkish.

Marcus, R. (2020, March 27). Opinion: These are the heroes of the coronavirus pandemic. The Washington Post.https://www.washingtonpost.com/opinions/2020/03/27/nurses-doctors-are-heroes-this-moment/

Rajkumar RP (2020) COVID-19 and mental health: A review of the existing literature. Asian Journal of Psychiatry 52: 102066.

Simonetti, V., Durante, A., Ambrosca, R., Arcadi, P., Graziano, G., Pucciarelli, G., Simeone, S., Vellone, E., Alvaro, R., & Cicolini, G. (2021). Anxiety, sleep disorders and self-efficacy among nurses during COVID-19 pandemic: A large cross-sectional study. Journal of Clinical Nursing, 30(9–10), 1360–1371.

Stajkovic, A. D., & Luthans, F. (1998). Self-Efficacy and Work-Related Performance: A Meta-Analysis. Psychological Bulletin, 124(2), 240–261.

Sun, Y., Song, H., Liu, H., Mao, F., Sun, X., & Cao, F. (2021). Occupational stress, mental health, and self-efficacy among community mental health workers: A cross-sectional study during COVID-19 pandemic. International Journal of Social Psychiatry, 67(6), 737–746.

World Health Organization (2020) Coronavirus disease 2019 (COVID-19) – Situation report 91.

……………………………………………………………………

บทความวิชาการ

โดย คุณพัลพงศ์ สุวรรณวาทิน

นิสิตดุษฎีบัณฑิต แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรวดี วัฒฑกโกศล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

……………………………………………………………………..

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s