เราต่างมีเงื่อนไขในคุณค่าและความรัก

Posted by

หลายคนคงเคยได้ยินเพลงสุดฮิต Unconditionally ของศิลปินสาว Katy Perry ในปี ค.ศ. 2013 หรือคำกล่าวสุดโรแมนติกที่ว่าI will love you unconditionally หรือความรักที่ดีควรเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข เวลาฟังเพลงนี้ผมมักเกิดคำถามว่าเราสามารถรักคนอื่นอย่างไม่มีเงื่อนไขได้จริงหรือ? นำมาสู่คำถามหลักของบทความนี้คือ

แท้จริงแล้วมีเงื่อนไขอะไรบ้างที่เราต้องทำเพื่อให้ได้มาซึ่งความรัก?

ใครที่อยู่วงการจิตวิทยาการปรึกษาและจิตบำบัดในแนวคิด Person-Centred ของ Rogers อาจจะคุ้นเคยกับคำว่า Condition of worth หรือภาวะของการมีคุณค่า ความหมายจริงๆ ของคำนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อนและซับซ้อน แต่ถ้าจะแปลตรงตัว ก็คือ เงื่อนไข ของ การมีค่า เราจะมีค่าเมื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ ตัวอย่างที่มักถูกยกในบทความจิตวิทยาการปรึกษาคือ “เด็กผู้ชายถูกสอนว่าไม่ควรร้องไห้ หรือแสดงความอ่อนแอ หรือเด็กหญิงควรเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ นักเรียนที่ดีต้องไม่เถียงผู้ใหญ่หรือครูบาอาจารย์ เป็นต้น” 

ในประโยคเหล่านี้ มันมีเงื่อนไขซุกซ่อนอยู่เสมอ กับคำถามที่ว่าถ้าเราทำสิ่งที่ตรงข้ามกับเงื่อนไขเหล่านี้ เราจะยังได้รับความรัก ได้รับคุณค่า การดูแลเอาใจใส่หรือไม่  เงื่อนไขเหล่านี้มักติดตัวกับเรามาตั้งแต่เด็ก เมื่อครั้งเรายังเป็นเด็กเล็กๆ เราจำต้องอาศัยผู้อื่นในการอยู่รอดเพราะยังไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ มนุษย์ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการความรักและความสัมพันธ์ เป็นที่ถูกรักและได้รักผู้อื่น3 สำหรับเด็กแล้ว พ่อแม่ก็เหมือนโลกทั้งใบของพวกเขา หากเด็กๆ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของพ่อแม่ ชีวิตก็คงลำบากไม่น้อยเลย ซึ่งผู้ให้ข้อมูลเงื่อนไขนี้ก็คือคนสำคัญในชีวิต อาทิ พ่อแม่ ครอบครัว หรือแม้กระทั่งสังคมและวัฒนธรรมที่โอบล้อมชีวิตของเราไว้นั่นเอง

เงื่อนไขเหล่านี้สำคัญกับตัวเราอย่างไร

ศัพท์จิตวิทยาจะใช้คำว่า Introjection หมายถึง ข้อมูลจากประโยคและเงื่อนไขเหล่านี้จะผนวก ซึมซับเข้าไปภายในตัวเรา บ่มเพาะและสร้างเป็นตัวตนของเราขึ้นมาว่า เราคือใคร เราเป็นคนอย่างไร อะไรคือสิ่งที่เราควรทำ (should) หรือต้องทำ (ought) เช่น ฉันเป็นผู้ชายต้องไม่แสดงความอ่อนแอ ฉันไม่ควรโกรธและทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่น ฉันต้องสุภาพเรียบร้อย ผู้หญิงเอเชียต้องอดทนและไม่โต้ตอบ (Passive) ฉันต้องดูแลคนอื่นก่อนตัวเองเสมอ หรือฉันเป็นเด็กเรียนต้องได้เกรดดีๆ เป็นต้น1

เมื่อมีควร ก็ต้องมีไม่ควร ดังนั้นผลที่ตามมาของเงื่อนไขคือ คนเรามักจะปฏิเสธ ละเลย (neglect) หรือเลือกที่จะเงียบเสียง (silence) สิ่งที่เรารู้ว่าคนรอบข้างของเราไม่ยอมรับ ตัวอย่างเช่น  ผู้ชายเมื่อรู้สึกกลัว เสียใจอาจเลือกปฏิเสธความรู้สึกที่มี ปฏิเสธความโกรธของตัวเองเมื่อมีคนอื่นมาเอาเปรียบ2 ซึ่งสิ่งที่ปฏิเสธเหล่านี้ แท้จริงแล้วมันก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของตัวเราเช่นกัน ทั้งความโกรธ กลัว โมโห อิจฉา หรือขี้เกียจ

อย่างไรก็ตามบทความนี้ ไม่ได้มุ่งหวังให้เราต้องขจัดเงื่อนไขทั้งหมดในตัวเรา เพราะทุกคนต่างมีเงื่อนไข เงื่อนไขคือส่วนหนึ่งของตัวเราเสมอ แต่เป้าประสงค์หลักคือการกลับมาลองสำรวจตัวเราเองว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างกับพ่อแม่ เพื่อนหรือคนรัก หรือกระทั่งกับสังคมที่อยู่ เรามีเงื่อนไขอะไรบ้างในตัวของเราเอง แล้วลองพิจารณาว่าเงื่อนไขต่างๆ นั้น อันไหนสำคัญและจำเป็น หรือเงื่อนไขไหนที่มันบั่นทอนจิตใจตัวเรา ตึงเกินไป จนเป็นโทษมากกว่าคุณ หรือทำให้เรารู้สึกทุกข์ และไม่มีความสุขในชีวิต

ทั้งนี้ เมื่อเศร้าหรือทุกข์ใจ นอกจากปรึกษาเพื่อหรือคนใกล้ตัวแล้ว การได้พูดคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษาและจิตบำบัดก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเยียวยาจิตใจ และอาจช่วยสำรวจเงื่อนไขในชีวิตของเราด้วยเช่นกัน

บทความนี้อยากฝากผู้อ่านได้คิดอีกแง่ว่า คนเราเป็นผู้ได้รับเงื่อนไขจากคนสำคัญในชีวิตเราตั้งแต่เด็ก แต่เราก็อย่าลืมว่าเราเองก็อาจเป็นผู้วางเงื่อนไขคุณค่ากับผู้อื่น ทั้งเพื่อน คนรัก หรือกับลูกหลานของเราเองด้วยไม่มากก็น้อยเช่นกัน

เราอาจรัก ถูกรัก ให้ค่าและถูกให้ค่า อย่างมีเงื่อนไข แต่หวังว่าบความนี้จะสะกิดให้เราเห็นกลไกเล็กๆของเงื่อนไขที่เรามีให้กันอยู่เสมอ เห็นมัน เข้าใจมันอย่างเท่าทันมากขึ้นครับ

รายการอ้างอิง

1. Chandler, Khatidja. 2005. “From Disconnection to Connection: ‘Race’, Gender and the Politics of Therapy.” British Journal of Guidance and Counselling 33(2), 239-56.

2. Stephenson, Margaret. 2012. “Finding Fairbairn-Discovery and Exploration of the Work of Ronald Fairbairn.” Psychodynamic Practice 18 (4), 465-70.  

3. Watson, Jeanne C. 2011. “The Process of Growth and Transformation: Extending the Process Model.” Person-Centered & Experiential Psychotherapies 10(1), 11-27. https://doi.org/10.1080/14779757.2011.564760

ภาพประกอบ https://www.annelauremaison.com/

……………………………………………………………………

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

……………………………………………………………………..

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s