#ข้อค้นพบจากวิทยานิพนธ์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“วัฒนธรรม เพศ และรูปแบบการจัดการกับความขัดแย้ง : การเปรียบเทียบระหว่างนิสิตนักศึกษาไทยและอเมริกัน”
รูปแบบการจัดการความขัดแย้งมี 5 รูปแบบ ได้แก่
- การหลีกหนี (Avoiding/Withdrawing) – เป็นรูปแบบการจัดการที่ไม่ตอบสนองต่อเป้าหมายของใครเลย หลีกหนีต่อปัญหาและละทิ้งความต้องการ อาจเป็นไปโดยชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือถอนตัวอย่างถาวร [คิดถึงตนเองและคิดถึงผู้อื่นน้อย]
- การยอมตาม (Obliging/Accommodating) – ยินดีตอบสนองความพึงพอใจของอีกฝ่ายโดยยอมเสียสละความต้องการของตนเอง [คิดถึงตนเองน้อย และคิดถึงผู้อื่นมาก]
- การใช้อำนาจ (Dominating/Competing) – เน้นตอบสนองต่อเป้าหมายของตนเองเป็นสำคัญ ใช้อำนาจทุกอย่างที่เห็นว่าเหมาะสมเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการโต้เถียงหรือตำแหน่งที่สูงกว่า [คิดถึงตนเองมาก และคิดถึงผู้อื่นน้อย]
- การประนีประนอม (Compromising) – หาทางออกที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ ยอมให้มากกว่าผู้แข่งขัน แต่ไม่ถึงกับเป็นผู้ยอมตาม และเผชิญปัญหามากกว่าผู้หลีกเลี่ยง แต่ไม่ลงลึกในรายละเอียดเท่าผู้ร่วมมือ [คิดถึงตนเองและคิดถึงผู้อื่นปานกลาง]
- การบูรณาการ (Integrating/Collaborating) – การพยายามหาทางออกร่วมกับคู่กรณีโดยมุ่งตอบสนองต่อเป้าหมายของทั้งสองฝ่าย ลงลึกในประเด็นปัญหาเพื่อได้ทางออกที่สร้างสรรค์ซึ่งสร้างความพึงพอใจแก่ทั้งคู่ [คิดถึงตนเองและคิดถึงผู้อื่นมาก]
จากการเก็บข้อมูลกับนักศึกษาไทยและอเมริกันจำนวน 575 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างคนไทยและคนอเมริกัน เพศชายและเพศหญิง รายงานถึงการจัดการความขัดแย้งรูปแบบต่าง ๆ แตกต่างกันดังนี้
รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่คนไทยนิยมใช้ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ
- ยอมตาม 2. หลีกหนี 3. บูรณาการ 4. ใช้อำนาจ 5. ประนีประนอม
รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่คนอเมริกันนิยมใช้ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ
- บูรณาการ 2. ใช้อำนาจ 3. หลีกหนี 4. ยอมตาม 5. ประนีประนอม
รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่ผู้ชายนิยมใช้ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ
- บูรณาการ 2. ใช้อำนาจ 3. ยอมตาม 4. หลีกหนี 5. ประนีประนอม
รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่ผู้หญิงนิยมใช้ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ
- บูรณาการ 2. หลีกหนี 3. ยอมตาม 4. ประนีประนอม 5. ใช้อำนาจ
คนไทย VS คนอเมริกัน
เหตุที่กลุ่มตัวอย่างคนไทยใช้กลยุทธ์การจัดการความขัดแย้งแบบหลีกหนีและยอมตามมากกว่าคนอเมริกัน และคนอเมริกันใช้กลยุทธ์การจัดการความขัดแย้งแบบใช้อำนาจ ประนีประนอม และบูรณาการมากกว่าคนไทย นั้นเป็นเพราะ คนไทยส่วนใหญ่มีค่านิยมคติรวมหมู่สูง นั่นหมายถึงการไม่ชอบการแข่งขันภายในกลุ่ม พยายามหลีกเลี่ยงความไม่ลงรอยและการเผชิญหน้า รู้สึกปลอดภัยมากกว่าเมื่อพึ่งพาอาศัยกันและกัน อีกทั้งมีแรงขับที่จะเรียกร้องสิทธิ์ของตนเองน้อย เห็นแก่ความสัมพันธ์มากกว่าเป้าหมายของตน ในทางตรงกันข้าม คนอเมริกันส่วนใหญ่มีค่านิยมแบบปัจเจกนิยมสูง ซึ่งมีลักษณะของการคำนึงถึงตนเองมากกว่าผู้อื่น รับมือกับความขัดแย้งด้วยการลงมือแก้ปัญหา เจรจา และใช้อำนาจ มองการปะทะทางความคิดและการโต้แย้งด้วยเหตุผลเป็นคุณลักษณะทางบวกที่แสดงถึงความเปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตย
ผู้ชาย VS ผู้หญิง
สำหรับการเปรียบเทียบระหว่างผู้ชายและผู้หญิง พบว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งสองเพศใช้รูปแบบการจัดการความขัดแย้งแบบบูรณาการมากที่สุดไม่แตกต่างกัน แต่ผู้ชายจัดการความขัดแย้งแบบใช้อำนาจมากกว่าผู้หญิง และผู้หญิงจัดการความแย้งแบบหลีกหนี ยอมตาม และประนีประนอมมากกว่าผู้ชาย สาเหตุเป็นเพราะผู้หญิงมักให้ความสำคัญกับเรื่องความสัมพันธ์สูง มองว่าพฤติกรรมก้าวร้าวเป็นสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้ การถอย ยอมตาม หรือประนีประนอมจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ขณะที่ผู้ชายเป็นเพศที่ยืนหยัดในสิทธิ์ชองตน บงการ และใช้อำนาจมากกว่า
*************************************
รายการอ้างอิง
“วัฒนธรรม เพศ และรูปแบบการจัดการกับความขัดแย้ง : การเปรียบเทียบระหว่างนิสิตนักศึกษาไทยและอเมริกัน”
“Culture, gender, and conflict management styles : comparisons between Thai and American students”
วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2549)
โดย นางสาวภิสสรา อุมะวิชนี
อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ : รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระพร อุวรรณโณ
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/39802