สมองของคนเรานั้นชอบหาทางลัด
เวลาที่พบใครทำอะไรไม่ดี เราก็มักจะตัดสินง่ายๆ ว่าเขาเป็นคนไม่ดี เพราะมันใช้เวลาน้อยกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับการมานั่งทำความเข้าใจถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อย่างเช่น การมานั่งคิดว่าวันนี้เขาเจออะไรมาบ้าง ขณะนี้เขากำลังคิดกำลังรู้สึกอะไร ตลอดเวลาที่ผ่านมาเขาเคยมีประสบการณ์แบบไหนเกิดขึ้นในชีวิตของเขา
ในทางตรงกันข้าม หากเป็นตัวเราเองที่ทำอะไรไม่ดี สมองของเราจะคิดหาเหตุผลมาได้มากมายเพื่อหาข้อแก้ต่างให้กับตัวเอง ซึ่งมันก็ไม่สิ้นเปลืองพลังงานและเวลาอะไรนัก เพราะเรามีข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราอยู่แล้ว เรารู้ว่าวันทั้งวันนี้เราเจออะไรมา เราเข้าใจหัวอกของตัวเอง เรารู้ดีว่าเราทำสิ่งต่างๆ ลงไปด้วยความคิดและความรู้สึกแบบไหน
กล่าวได้ว่า คนเราล้วนมีความพร้อมที่จะปกป้องตัวเอง เพราะเรามีข้อมูลของเรา แตกต่างจากเรื่องราวของคนอื่น ที่เราไม่ได้รู้อะไร เราจึงไม่อาจเข้าใจถึงมุมมองของคนอื่นขนาดที่ put oneself in other’s shoes แล้วจะทำได้อย่างอัตโนมัติ
นักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า “Self-serving bias หรือ ความลำเอียงเข้าข้างตน” (อะไรดีเอาเข้าตัว อะไรชั่ว-เพราะจำเป็น) และ “Fundamental attribution error หรือ ความคลาดเคลื่อนในการอนุมานสาเหตุ” (เขาทำเช่นนั้นเพราะเขาเป็นคนเช่นนั้น)
ถึงแม้มนุษย์จะนิยมความยุติธรรม แต่ความลำเอียงหรือ bias นั้น เกิดขึ้นและคงอยู่ได้ด้วยประโยชน์บางประการ
เนื่องจากการลำเอียงเข้าข้างตนนั้นช่วยให้เรารักษาความรู้สึกที่ดีกับตัวเองไว้ได้ เรามีความสุขกับเรื่องดีๆ และความสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก “ความเก่ง” “ความดี” และ “ความพยายาม” ของเรา และเราก็ไม่ต้องมาเป็นทุกข์เนื่องจาก “ความไม่ดี” “ความ” หรือ “ความขี้เกียจ” ของเรา
ความภาคภูมิใจในตนเป็นสุดยอดอารมณ์ที่น่าพึงปรารถนา การเห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) เป็นสิ่งที่เราต้องรักษาระดับไว้ ขณะที่ความรู้สึกผิด (guilty) นั้นเป็นสุดยอดอารมณ์ทางลบที่แย่ยิ่งกว่าอารมณ์ใดๆ เราจึงต้องบอกตัวเองว่าเราทำดีเพราะเราเป็นคนดี ส่วนที่เราทำไม่ดีเพราะมีปัจจัยแวดล้อมนานามาทำให้มันเป็นไป จะเป็น ความเครียด ความเหนื่อยล้า ความไม่รู้ ความถูกกระทำก่อน หรือความ ‘ใครๆ เขาก็ทำกัน’ (descriptive norm) ก็ตาม
เราไม่ได้ “จงใจ” คิดเข้าข้างตัวเองเพื่อเหตุผลเหล่านี้ แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ เป็นธรรมชาติเหมือนเวลามีแสงสว่างมากๆ เราก็ต้องหยีตา แม้แต่นักจิตวิทยาเองที่เข้าใจในกระบวนการเหล่านี้ บ่อยครั้งก็ยังหนีไม่พ้น…
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีประโยชน์เช่นนั้น เป็นไปโดยธรรมชาติด้วยเหตุปัจจัยทั้งหลายเหล่านั้น แต่ขึ้นชื่อว่าความลำเอียงแล้ว ของที่มันไม่ตรง มันก็มีโทษที่ความไม่ตรงนั่นเอง
ยิ่งไม่ตรงมาก คือลำเอียงเข้าข้างตัวเองมาก ก็เป็นกับดักทำร้ายตัวเองได้ เมื่อเราไม่ตระหนักถึงสาเหตุที่แท้จริงจากเรื่องดีและร้ายของเรา การจะทำให้เกิดเรื่องดีซ้ำๆ หรือป้องกันและแก้ไขเรื่องร้ายย่อมเป็นไปไม่ได้ ยิ่งถ้าผนวกกับ Fundamental attribution error ด้วยแล้ว เราจะยิ่งกลายเป็นผู้อยุติธรรมไปกันใหญ่ จนเข้าตำรา “ความผิดคนอื่นเท่าผืนฟ้า ความผิดตนเองแค่เม็ดทราย”
ความลำเอียงที่กล่าววมานี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพียงแต่จะมากหรือจะน้อย
ถ้าใครกำลังคิดว่าปฏิเสธว่า “ฉันไม่เคยเป็นอย่างนั้น” “ฉันไม่ใช่คนคิดเข้าข้างตัวเอง” และ “ฉันไม่เคยโทษใครมั่วๆ”
ลองนึกทบทวนดูก่อนว่า เวลาที่เราใช้รถใช้ถนนผิดกฎจราจร เราบอกตัวเองว่าอย่างไร
เวลาที่พบเห็นคนอื่นใช้รถใช้ถนนผิดกฏจราจร เราคิดถึงเขาว่าอย่างไร
เวลาที่เรามาสาย เราอธิบายว่าอย่างไร
เวลาที่คนอื่นมาสาย ผิดนัดเรา เรารู้สึกกับเขาเช่นไร
เวลาที่เราไม่รักษ์โลก เรามีเหตุผลอะไร
เวลาที่คนอื่นไม่รักษ์โลก เราคิดว่าแต่ละคนมีเหตุผลอะไร
ถ้าเปรียบเทียบเช่นนี้สัก 10 สถานการณ์ แล้วได้คำตอบเช่นเดิม คือเราไม่เคยอธิบายตัวเองและตัดสินคนอื่นแตกต่างกันเลย นั่นแปลความได้ 2 อย่าง คือ ถ้าท่านไม่ใช่ยอดคนที่อยู่เหนือสัญชาตญาณเหล่านั้น ท่านก็เป็นคนที่เข้าข้างตัวเองแบบสุดๆ ไปเลย (ผ่าม…!)
ถ้ามีบางคราว ที่เราคิดหาข้อแก้ต่างให้ตัวเอง(เก่ง) แต่ไม่ได้ทำเช่นนั้นกับคนอื่น
และก็มีบางคราว ที่เราตัดสินตัวเองอย่างเป็นธรรม รวมถึงมองในมุมของคนอื่นอย่างเข้าใจ
ท่านคือคนทั่วไป…ที่ไหลไปตามธรรมชาติของมนุษย์บ้าง และมีสติเท่าทันตัวเองบ้าง
การระลึกรู้ตัวไม่ใช่วิถีของการประหยัดพลังงาน มันจึงไม่ใช่ default ของเรา เป็นสิ่งที่แม้เราเคยทำได้ ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำได้อยู่ตลอด และสติเป็นคนละเรื่องกับตรรกะ ผู้ที่มีตรรกะดีก็สามารถตกอยู่ในวิถีของปุถุชนได้ ดังนั้นสติจึงเป็นเรื่องที่ต้องฝึก และฝึกอยู่ตลอดเวลา
การฝึกสตินั้นจะว่ายากก็ยาก เพราะเป็นการฝึกฝนที่ไม่สิ้นสุด แต่จะว่าง่ายก็ง่าย เพราะจุดเริ่มต้นเล็กๆ คือการดึงการรั้งตัวเองไม่ให้ไหล เราอาจจะห้ามตัวเองไม่ทันเวลาเอ่ยคำแก้ตัว หรือยั้งตัวเองไม่อยู่ตอนวิพากษ์ (หรือบริภาษ) คนอื่น แต่เราสามารถนำมาคิดทบทวนภายหลังได้ ตอนที่หัวเราโล่งๆ ไม่ได้โกรธ กลัว หรือวิตกกังวลอะไร ย้อนฟังเสียงของตัวเองเวลาอธิบายเรื่องของตัวเอง เปรียบเทียบกับเสียงของตัวเองเวลาอธิบายเรื่องของคนอื่น
“ใจเย็นๆ” อาจเป็นคำติดปากที่เรามักใช้พูดปลอบใจคนอื่น แต่เราก็สามารถนำมาใช้กับตัวเองได้เช่นกัน
แค่ไม่รีบร้อนสรุปเรื่องใดๆ โดยเฉพาะเรื่องของคนอื่นที่เราไม่มีทางรู้ข้อมูลได้ครบถ้วนในนาทีนั้น
ตั้งคำถามก่อนฟันธงคำตอบ
หา second opinion ที่เชื่อถือได้ (ที่ใจเย็นกว่าเรา)
และที่สำคัญที่สุด – จึงต้องกล่าวถึงหลังสุด – คือการยอมรับในความผิดพลาดที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเราทุกคนและทุกเมื่อ
เราสามารถทำอะไรผิดไปก็ได้ เข้าใจอะไรผิดไปก็ได้ เพราะเราไม่ใช่คนดี 100% และไม่รู้อะไรไปเสียทุกอย่าง
การยอมรับในความบกพร่องของตัวเองจะช่วยให้เราปกป้องตัวเองน้อยลง
เมื่อเราไม่ต้องใช้พลังงานไปกับการปกป้องตนเอง เราก็จะมีทรัพยากรสำหรับการเรียกสติและคิดได้อย่างมีตรรกะมากขึ้น
……………………………………………………………………
บทความวิชาการ
โดย คุณรวิตา ระย้านิล
นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
……………………………………………………………………..