เมื่อต้องสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รัก

Posted by

เมื่อต้องสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รัก 

: ทำความเข้าใจภาวะของจิตใจยามสูญเสีย

เราต่างคงมีใคร หรือมีอะไร เช่น สิ่งของ หรือสถานที่ ให้เราได้คิดถึงนะคะ

ความคิดถึงนั้นแบ่งง่าย ได้เป็นสองแบบค่ะ คือ คิดถึงแล้วใจฟู กับ คิดถึงแล้วใจแฟ่บ

ความคิดถึงแบบใจฟู ก็คือการคิดถึงสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราชอบ โดยที่เรายังรู้อยู่ในใจว่า สิ่งที่เราคิดถึงนั้นยังอยู่ใกล้ ให้เราไปหา ให้เราไปเจอ สมกับความคิดถึงที่เรามี เช่น เมื่อเราออกจากบ้านมาโรงเรียน แล้วเราคิดถึงเจ้าลูกสุนัขตัวน้อย ขนสีขาวฟูของเรา พอคิดถึงอย่างนี้ ก็มีความสุข เพราะเดี๋ยวตอนเย็นหลังเลิกเรียน ก็ได้กลับไปเจอกัน หรือเวลาสามีภรรยาที่เพิ่งแต่งงานกัน ตอนเช้าต่างคนต่างก็ออกไปทำงาน ระหว่างวันอาจมีการนึกถึงกันด้วยความคิดถึง 

ความคิดถึงประเภทนี้ เป็นความคิดถึงที่ทำให้ใจเราฟู มีความสุขได้

ส่วนความคิดถึงประเภทที่สอง เป็นความคิดถึงที่เกิดขึ้นมาแล้วใจเราแฟ่บลง ความคิดถึงแบบนี้ก็มาจากการที่เราคิดถึงสิ่งที่เรารัก เราผูกพันเช่นเดียวกัน แต่ทว่าเมื่อเราคิดถึงคน คิดถึงสิ่งของ คิดถึงสถานที่เหล่านั้นแล้ว เราไม่มีโอกาสจะได้พบ ได้ไป ได้เห็นสิ่งที่เราคิดถึงอีก

กล่าวง่าย คือ ความคิดถึงแบบนี้ มีคำตามหลังพ่วงมาด้วยว่า คิดถึง แต่ไม่มีสิ่งเหล่านั้นแล้ว… 

ยิ่งคิดถึงมาก ก็ยิ่งทำให้เรารู้ว่าสิ่งเหล่านั้นมีค่ามาก แล้วคำตอบที่ตามหลังมา ก็ยิ่งทำให้ใจแฟ่บ ห่อเหี่ยวลงไปได้มากยิ่งกว่า เมื่อเรารู้ว่าไม่มีสิ่งเหล่านั้นแล้ว

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามมานี้ เป็นความรู้สึกที่ตระหนักได้ชัดถึงการเสียไปแล้วซึ่งของรักของเรา ไม่ว่าจะเป็นการเสียแบบขาดจากกันด้วยอีกฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว หรือเป็นการเสียแบบขาดจากการด้วยการไม่มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกันแล้วก็ตาม

ความรู้สึกที่ตามมาจาการเสียของรักนี้ บางครั้งเราเรียกมันได้ว่าความโศกเศร้า

หากเราจะสรุปง่ายๆ ว่า ใจที่แฟ่บ หรือ ความโศกเศร้า ก็เป็นการตอบสนองแบบหนึ่งของคนเราต่อความสูญเสีย โดยความความเศร้าโศกนี้คนเราสามารถแสดงออกมาได้ทั้งทางพฤติกรรมภายนอกให้เห็น เช่น ร้องไห้ฟูมฟาย เหม่อลอย หรือเป็นพฤติกรรมภายในเช่น ความรู้สึกหวนหา คิดย้อนระลึกถึงวันคืนเก่า

ในการแสดงออกทั้งภายในและภายนอกบุคคลดังกล่าว คนเราแต่ละคนก็จะมีการแสดงออกที่แตกต่างกันไป 

นักจิตวิทยาได้มีการศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึกโศกเศร้านี้มากมาย เพื่อเข้าใจความรู้สึกที่คนเราจะต้องเผชิญเมื่อต้องเสียของรักค่ะ

สิ่งที่น่าสนใจคือ มีนักจิตวิทยากล่าวถึง ระยะของความเศร้าโศก โดยการทำความเข้าใจระยะของความเศร้าโศกนี้ จะช่วยให้เราสามารถเตรียมตัวเตรียมใจว่าเราจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง เมื่อเราอาจต้องเสียของรักไป นอกจากนี้ยังจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจคนที่อยู่รอบตัวเรา เมื่อเขาต้องเสียของที่เขารักไปได้เช่นกัน

ระยะของความเศร้าโศกนี้มีอยู่ด้วยกัน 4 ระยะ คือ 

ระยะของการไม่ยอมรับ 

ระยะของการเริ่มต้นยอมรับความจริง 

ระยะของการยอมรับความจริง และ

ระยะของการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

เรามารู้จักกับระยะแรกของความโศกเศร้าก่อนนะคะ

ระยะแรกที่นักจิตวิทยาเรียกว่า เป็น ระยะของการไม่ยอมรับ นี้ เป็นช่วงต้นที่บุคคลเริ่มรับรู้ถึงการสูญเสีย การพลัดพรากที่เกิดขึ้น เมื่อเราต้องพรากจากสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราอยากให้อยู่กับเราไปนาน ปฏิกริยาตอบสนองแรกที่ย่อมจะเกิดขึ้นก็คือ การพยายามไม่ยอมรับความจริงเกี่ยวกับการสูญเสีย เช่น บางคนเมื่อคนรักมาตัดรอน บอกเลิก ก็อาจจะแสดงออกเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ยอมรับว่าเราสองคนจบกันแล้ว แสดงตัวประหนึ่งว่ายังรักกันเช่นเดิม

นักจิตวิทยาก็ได้อธิบายว่า พฤติกรรมทั้งภายนอกภายในที่บุคคลแสดงในขั้นนี้ เป็นพฤติกรรมที่แสดงมาจากความไม่เชื่อ ไม่ยอมรับความจริงเกี่ยวกับการสูญเสีย บางคนอาจจะมีการใช้วิธีที่เรียกว่า กลวิธีการยืดเวลา คือ พยายามขยายเวลาออก ให้ช่วงเวลาของการที่ไม่ต้องยอมรับและเผชิญกับความจริงนานออกไปเรื่อย เช่น เมื่อชายหนุ่มทราบว่า หญิงสาวที่ตนรักเป็นอื่นไปแล้ว เขากลับพยายามทำทุกอย่างให้เหมือนเดิม เหมือนตอนที่ยังรักกันดีอยู่ ไม่ยอมรับกับความจริงว่าหญิงสาวนั้น ได้จบความสัมพันธ์กับเขาแล้ว

การไม่ยอมรับนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการความเศร้าโศก ที่จะช่วยให้บุคคลมีเวลาสำหรับฟื้นความรู้สึก และช่วยให้บุคคลมีเวลาในการเตรียมความพร้อมเพื่อทำใจยอมรับความจริง ว่าเราได้สูญเสียสิ่งที่รักไปแล้วนั่นเอง เมื่อการยืดเวลา การไม่ยอมรับสิ้นสุดลง บุคคลจะเริ่มยอมรับความจริงเกี่ยวกับการสูญเสีย และจะเข้าสู่ระยะต่อไปของการสูญเสียค่ะ

ระยะที่สอง ระยะของการเริ่มยอมรับความจริง 

เนื่องจากแม้ใจเราอยากจะปฏิเสธความจริงเท่าใดก็ตาม ว่าสิ่งที่เรารักยังอยู่กับเรา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด เกิดขึ้นทั้งสิ้น หากความจริงภายนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ก็เข้ามากระทบ มาย้ำให้เรารับรู้อยู่ตลอดเวลาว่าเราเสียของรักไปแล้ว เมื่อมีความจริงมาปรากฏตรงหน้าเช่นนี้อยู่บ่อยครั้ง คนเราก็จะหันหน้ามาเผชิญกับความจริงว่าเราได้เสียของรักไปแล้วจริง

ในตอนต้นของการยอมรับนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือความรู้สึกเจ็บปวด อาจถึงขั้นเจียนใจจะขาดลงเสียให้ได้ เพราะต้องมายอมรับกับความจริงว่าต้องสูญเสียสิ่งที่เราไม่อยากให้สูญเสีย หากเราก็ต้องค่อย ขยับใจให้มายอมรับกับความจริงที่แม้จะเจ็บปวดเช่นนี้ เพราะมันก็คือความจริง ซึ่งเราจะสามารถผ่านพ้นความรู้สึกเจ็บปวดนี้ไปได้สักวันอย่างแน่นอน ความรู้สึกเจ็บปวดในใจที่เกิดขึ้นจากการเริ่มต้นยอมรับความจริงนี้เป็นอาการเบื้องต้นที่จะเกิดขึ้น บุคคลอาจแสดงออกถึงความเจ็บปวดที่ตนได้รับผ่านการร้องไห้คร่ำครวญ บางครั้งอาจมีการนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย บ้างก็อาจมีการคิดหมกมุ่นถึงสิ่งที่เราเสียไป ใจกลับไปคิดทบทวนถึงแต่เรื่องเก่า ที่เคยผ่านมา

หากการสูญเสียของรักของเราเป็นการสูญเสียที่รุนแรงที่สุด คือ การจากกันเพราะอีกฝ่ายไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว ในระยะของการเริ่มต้นยอมรับความจริงนี้ บุคคลที่สูญเสียยังอาจมีการแสดงความโกรธ เนื่องจากความผิดหวังที่เกิดขึ้นจากความหวังว่าผู้เราต้องสูญเสียจะยังมีชิวิตอยู่ หรือมีความโกรธต่อผู้ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบ หรือ มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการสูญเสียของเรา เมื่อบุคคลเข้าสู่ระยะของการเริ่มต้นยอมรับความจริง แม้ในระยะนี้บุคคลอาจจะมีอารมณ์รุนแรง เนื่องจากความจริงที่แสนจะเจ็บปวดนี้ แต่บุคคลก็จะพร้อมที่จะก้าวไปสู่ระยะต่อไปในที่สุดค่ะ

ระยะที่สาม ระยะของการยอมรับความจริง

คือ ระยะที่คนเราจะมีการตระหนักและยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น โดยการยอมรับความจริงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบปุบปับ เช่นว่าวันนี้ยังมีความโกรธต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ร้องไห้ฟูมฟาย แล้ววันรุ่งขึ้นอยู่ ก็จะยอมรับความสูญเสียได้ การเปลี่ยนแปลงนี้บุคคลจะค่อย ตระหนักถึงความสูญเสีย และยอมรับว่าความสูญเสีย การพรากจากของรักของตนนั้นได้เกิดขึ้นจริงแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากการตระหนักและยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นความเสียใจอย่างสุดซื้ง เพราะสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราผูกพัน ย่อมเป็นสิ่งที่เราพึงใจ มีความสุขกับสิ่งนั้น อยากให้มีสิ่งนั้นอยู่กับเราตลอดไป เมื่อต้องมาเผชิญกับความจริงว่าเราไม่มีโอกาสมีสิ่งที่เราพึงใจ อยากมีมันตลอดไปแล้ว ความรู้สึกเศร้า เสียใจอย่างสุดซึ้งย่อมจะเกิดขึ้นตาม โดยในบางครั้งอาจมีความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง มีอารมณ์ซึมเศร้า ไม่อยากทำอะไร หมดแรง หมดกำลังใจ หมดความสนใจต่อสิ่งต่าง ในชีวิต

อารมณ์เหล่านี้บางครั้งอาจส่งผลตามมาต่ออาการทางกายของเราด้วยนะคะ บางทีอาจเกิดอาการนอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร พอทราบเช่นนี้แล้วบางท่านอาจคิดในใจว่า อย่างนี้การยอมรับความจริงก็ไม่ดีเลย มีสารพัดอาการของความไม่สบายใจ ไม่สบายกายที่จะเกิดขึ้นได้ ดิฉันอยากเรียนให้ทราบว่าการยอมรับความจริงนี้เป็นสิ่งดีค่ะ ยิ่งเรายอมรับแบบเห็นจริง ยอมรับว่าเราจะไม่มีสิ่งที่เราเคยรัก เคยผูกพันอยู่แล้ว

สารพัดอาการทางใจและทางกายที่เกิดขึ้น เป็นกลไกของมนุษย์ที่พยายามเหนี่ยวรั้งให้สิ่งที่รักอยู่กับตัวเราให้นานที่สุด เมื่อไม่ได้สิ่งที่รักอยู่กับเราแน่ แล้ว ใจของเราก็ยากที่จะยอมรับมันโดยง่าย แม้จะยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นนอกตัวได้แล้วว่า ไม่มี ไม่มีแล้วจริง แต่สิ่งที่เป็นความคาดหวังในตัวเราต่างหากละคะที่จัดการได้ยาก 

การที่เราไม่เห็นว่าตัวเราทุกข์ เศร้าใจ หมดแรงใจ หมดแรงกาย ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในตัวเราค่ะ ถ้าเราไม่เห็นมันเราก็จะไม่สามารถจัดการกับมันได้ แต่เมื่อเราได้เห็นมัน หรือมันปรากฏขึ้นมาชัดเจน เราย่อมสามารถจัดการกับมันได้ และเราก็จะผ่านระยะของการยอมรับความจริงนี้ไปได้ ไปสู่ระยะสุดท้ายของความเศร้าโศกได้

กว่าจะเดินทางมาถึงระยะสุดท้ายนี้ไม่ใช่ง่าย เลยนะคะ

บุคคลจะต้องต่อสู้กับสารพัดความรู้สึกที่เราได้รับทราบกันไปข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการหนีจากความรู้สึก หรือความจริงที่ต้องเผชิญ อารมณ์เจ็บปวดเสียใจ อารมณ์เศร้า หวนหา อยากให้มีสิ่งที่รักอยู่กับตัวเรา แต่ทุกความรู้สึกที่ยากลำบาก ล้วนแต่เป็นเหมือนกับก้อนหินแต่ละก้อนที่ช่วยให้เรารู้จักและยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นในชีวิต และก้าวข้ามมาสู่ก้อนหินก้อนสุดท้ายก่อนจะข้ามถึงฝั่งนั้นก็คือ การกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ค่ะ

การกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คือการที่บุคคลที่ต้องสูญเสียหรือพรากจากของที่รัก สามารถเริ่มที่จะปรับตัวเอง และจัดระบบระเบียบในการดำเนินชีวิตใหม่ ปรับบทบาทของตนเองใหม่ ให้เข้ากับการที่ต้องอยู่โดยไม่มีของรักนั้นแล้ว

ดูเหมือนไม่มีอะไรซับซ้อนนะคะ แต่ความจริงแล้วในบางคนกว่าจะเดินมาถึงขั้นสุดท้ายนี้ได้ อาจต้องใช้เวลาเป็นปี หรือหลายปี หรือบางคนอาจต้องพยายามเดินแล้วเดินอีกก็ยังไม่ถึง การที่เราจะสามารถปรับตัวเองและกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับใจของเราเป็นหลักค่ะ คนรอบตัวอย่างมากก็เป็นได้เพียงกำลังใจ ซึ่งกำลังใจนี้อาจช่วยให้เรามีแรงมากขึ้นที่จะพยายาม แต่คนที่ต้องพยายามก็คือตัวเราเองอยู่ดี

การกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะเกิดขึ้นเมื่อเรายอมรับ ทั้งด้วยเหตุผลและด้วยจิตใจของเราได้ว่า เราไม่มีสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราพึงใจแล้ว และการเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้เกิดขึ้นจริง เราสามารถเสียใจ ร้องไห้ ซึมเศร้า แต่ไม่ว่าเราจะรู้สึกเท่าไร สิ่งที่เรารักก็จะไม่ได้กลับมาแล้ว แม้ว่าความจริงจะเป็นสิ่งที่เจ็บปวด แต่การยอมรับความจริงนั้นอย่างหมดหัวใจ ก็เป็นหนทางเดียวที่เราจะกลับมาสู่ภาวะปกติของตัวเราได้ค่ะ

สิ่งที่ยากก็คือการยอมรับความจริง แต่ดิฉันมีหลักง่าย ที่หลายท่านคงจะคุ้นเคยกันมาบ้าง ที่จะช่วยให้เราปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้ นั่นก็คือ หากเรายอมรับได้ว่า สิ่งต่าง ในชีวิตเราไม่มีอะไรอยู่กับเราอย่างถาวรเลย มันมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ เป็นกฎของธรรมชาติ เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราก็ไม่สามารถเปลี่ยนกฎของธรรมชาติได้

เมื่อวานร้อน พรุ่งนี้อาจจะมีฝนตก สิบปีที่แล้วเราเป็นเด็กน้อย ตอนนี้เราโตมาเป็นนักศึกษา การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในทุกสิ่งรอบตัวเรา ดังนั้นวันหนึ่งเรามีคนที่เรารัก เราผูกพัน ในอีกวันหนึ่งก็ย่อมจะไม่มีได้ เพราะ การเปลี่ยนแปลงเป็นกฎของธรรมชาติ หากเราสามารถเริ่มต้นมองการเปลี่ยนแปลง การต้องพรากจากสิ่งที่รักว่าเป็นส่วนหนึ่งของกฎธรรมชาติแล้ว เราก็สามารถค่อย ยอมรับความจริงอย่างหมดหัวใจ

แน่นอนค่ะว่าสิ่งที่รัก ที่ผูกพัน ขาดหายไป เราย่อมมีความทุกข์ใจ ทุกข์กายเกิดขึ้น แต่หลักธรรมชาติที่เราเข้าใจนี้ จะช่วยให้เรากลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็ว แล้วยอมรับกับสิ่งที่เกิดได้ค่ะ

รายการอ้างอิง

ภาพจาก https://www.nbcnews.com/…/are-we-truly-alone-cosmos-new-stu…

**********************************************

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

**********************************************

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s