1. ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น
.
ภาวะซึมเศร้า เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ ส่งผลทำให้บุคคล เกิดความรู้สึกเศร้า เสียใจ ไม่อยากทำอะไร แม้กระทั่งกิจกรรมที่ตนเคยชอบ เคยสนใจ มีความคิดด้านลบเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ อีกทั้ง การรับประทานอาหาร ลักษณะการนอน เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาการเหล่านี้ อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายของบุคคลได้
.
อาการเศร้าซึมในวัยรุ่นมักจะเกิดเป็นขั้นตอน โดยขั้นแรก เด็กวัยรุ่นมักจะบ่นว่าเหนื่อยหรือเบื่อและไม่สนใจ ไม่อยากทำงานของตน ขั้นต่อไปวัยรุ่นก็อาจจะมีการแอบร้องไห้ ไม่อยากพบปะกับคนอื่น ๆ และรู้สึกว่าตนเอง ว้าเหว่ และไม่มีคนสนใจ การเกิดอาการลักษณะนี้จะเชื่อมโยงไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด
.
ภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นนี้ เป็นภาวะที่วัยรุ่นเกิดความรู้สึกเศร้า–เสียใจเป็นอย่างมาก ต่อเหตุการณ์ใด เหตุการณ์หนึ่ง โดยบุคคลไม่สามารถจัดการ ภาวะความไม่เป็นสุข ความรู้สึกสูญเสีย ความรู้สึกเศร้านั้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปภาวะซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่น มักแสดงออก ในลักษณะของการหงุดหงิดง่าย มากกว่าการแสดงออกถึงความเศร้า
.
สาเหตุการเกิดภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น พบว่าอาจเกิดจาก การสูญเสียบุคคล หรือสิ่งอันเป็นที่รัก หรือการมีความคิดทางด้านลบเกี่ยวกับตนเอง ผู้อื่น สิ่งแวดล้อม และอนาคตมากเกินไป รวมถึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตที่ตนคาดไม่ถึง
.
ส่วนสาเหตุทางร่างกาย อาจเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง ที่ส่งผลให้บุคคลอยู่ในอาการเศร้าซึมได้ นอกจากนี้ยังพบว่า ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมอีกด้วย
ตัวอย่างภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น
นางสาวพจมาน อายุ 17 ปี เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ได้เล่าว่า เธอมีความรู้สึกเหนื่อย เบื่อ บางครั้งเธอมักจะร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล เพื่อน ๆ ของเธอมักสงสัยว่าเธอเศร้าเสียใจ เพราะอะไร ทั้ง ๆ ที่เธอทั้งเก่ง และสวย เธอบอกว่า แฟนหนุ่มของเธอต้องไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้เธอเศร้าเสียใจ มาตลอด บ่อยครั้งเธอมักเขียนบันทึกว่าเธออยากตาย เธอไม่สามารถจัดการกับความเศร้านี้ได้เลย พจมานไม่มีความรู้สึกอยากอาหาร กินอาหารได้น้อย มักนอนไม่หลับ ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ ทำให้ไม่มีความสามารถที่จะคิดสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างแจ่มชัด ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำกิจวัตรประจำวันที่ควรทำ
.
การบำบัดรักษาภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น
.
พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และเพื่อน ควรแสดงความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ และการให้กำลังใจ กับวัยรุ่น ที่มีภาวะซึมเศร้า แต่อย่างไรก็ตาม หากภาวะซึมเศร้าคงทนอยู่นาน การได้รับการบำบัดรักษา ไม่ว่าจะเป็น ยาต้านเศร้า หรือการบำบัดโดยการพูดคุย หรือจิตบำบัด จากจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เป็นสิ่งที่จำเป็น
.
.
2. ภาวะความวิตกกังวลหลาย ๆ ด้าน หรือ Generalized Anxiety
.
ภาวะความวิตกกังวลหลาย ๆ ด้าน เป็นความวิตกกังวล ความกลัวที่เกิดขึ้น ในชีวิตประจำวัน หลาย ๆ ด้านพร้อม ๆ กัน เช่น ความกังวลเกี่ยวกับการเรียน สุขภาพ ครอบครัว การเงิน สัมพันธภาพ เป็นต้น
.
ความวิตกกังวลนี้ เป็นภาวะทางอารมณ์ทางลบ ที่ก่อให้เกิดความกดดัน โดยบุคคลกังวลถึงอันตราย หรือสิ่งไม่ดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับตน โดยวัยรุ่นที่มีอาการความผิดปกตินี้ มักรู้สึกว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว นั้นไม่ปกติ และจะมีอันตรายเกิดขึ้นกับตน
.
ผลที่ตามมาคือ วัยรุ่นมักจะแสดงออกโดยการ โมโหและหงุดหงิดง่าย โดยไม่รู้สาเหตุ อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ เหนื่อยง่าย นอนตลอด หรือไม่ก็นอนหลับยาก ตื่นดึก ๆ ขาดสมาธิที่จะทำกิจกรรมที่ต้องทำ เช่น การบ้าน มักจะเล่นน้อยลง พบปะเพื่อนน้อยลง
.
หากสังเกตการพูด วัยรุ่นมักแสดงออกถึงการคิดถึงผลร้ายจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ถ้ายางรถยนต์ ระเบิดจะทำอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นหากฝนตก แล้วถูกฟ้าผ่า
.
อาการที่แสดงออกทางกาย ที่สำคัญได้แก่การปวดหัว โดยไม่มีสาตุ อัตราการเต้นของหัวใจ เร็วผิดปกติ เหงื่อแตก มือสั่น ปวดท้อง โดยไม่มีสาเหตุหลายรายมักมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วย เป็นต้น
.
สาเหตุการเกิดภาวะความวิตกกังวลแบบหลาย ๆ ด้าน พบว่าอาจเกิดจาก การมีความคิดทางด้านลบเกี่ยวกับตนเอง ผู้อื่น สิ่งแวดล้อม มากเกินไป
.
สาเหตุทางร่างกาย อาจเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองที่ส่งผลให้บุคคลมีอาการวิตกกังวลได้ นอกจากนี้ยังพบว่า ภาวะความวิตกกังวัลหลาย ๆ ด้าน อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมอีกด้วย
ตัวอย่างภาวะความวิตกกังวลแบบหลาย ๆ ด้าน
แอมมี่ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย อายุ 17 ปี แอมมี่ มีความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นความกังวลว่าจะเรียนไม่จบ กลัวจะมีอันตรายจะเกิดขึ้นกับครอบครัว และกลัวว่าเพื่อน ๆ จะไม่พอใจตน ถึงแม้ว่าแอมมี่จะพยายามไม่คิดมากกับสิ่งต่าง ๆ ที่เธอวิตกกังวล แต่เธอก็ไม่สามารถหยุดคิด หยุดกังวลกับสิ่งต่าง ๆ ได้ ตลอดเวลาเธอรู้สึกไม่สบายใจ เครียด และเมื่อเป็นมาก ๆ เธอจะมีอาการเหงื่อออก ตัวสั่น และมักนอนไม่ค่อยหลับ ตอนกลางวันก็ไม่สามารถผ่อนคลายกับสิ่งต่าง ๆ ได้ อาการดังกล่าวทำให้พ่อแม่ของแอมมี่เป็นทุกข์มาก ๆ
.
การบำบัดรักษาความวิตกกังวลแบบหลายด้าน ๆ ในวัยรุ่น
.
พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และเพื่อน ควรแสดงความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ และการให้กำลังใจ กับวัยรุ่น ที่มีภาวะความวิตกกังวลหลาย ๆ ด้านนี้ แต่อย่างไรก็ตาม หากความวิตกกังวลคงทนอยู่นาน การได้รับการบำบัดรักษา ไม่ว่าจะเป็น ยา หรือการบำบัดโดยการพูดคุย หรือจิตบำบัด จากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา เป็นสิ่งที่จำเป็น
.
.
3. ภาวะความวิตกกังวัลเฉพาะอย่าง หรือ Specific Anxiety
.
ภาวะความวิตกกังวลเฉพาะอย่าง เป็นความวิตกกังวล ความกลัวที่เกิดขึ้น ต่อเหตุการณ์ หรือวัตถุใดวัตถุหนึ่งอย่างมาก โดยเป็นความกลัวอย่างไร้เหตุผล โดยสำหรับวัยรุ่น มักพบความวิตกกังวัลเฉพาะอย่าง เช่น การกลัวสุนัข กลัวแมลง กลัวการว่ายน้ำ กลัวความสูง กลัวการฉีดยา เป็นต้น
.
ผลที่ตามมาวัยรุ่นมักจะแสดงออกถึงความกลัวอย่างรุนแรง เมื่อต้องเผชิญต่อเหตุการณ์ หรือวัตถุที่ตนกลัว เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ เร็วผิดปกติ เหงื่อแตก มือสั่น ปวดท้อง มีความคิดทางลบ ว่าตนจะต้องได้รับอันตรายจาก เหตุการณ์ หรือวัตถุนั้น
.
ความกลัว หรือความวิตกกังลนี้ นำไปสู่การไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวัน อย่างเป็นปกติได้ ตัวอย่าง เช่น การกลัววิชาคณิตศาสตร์ ทำให้ไม่ต้องการไปโรงเรียน หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าเรียนในวิชาที่ตนกลัวได้
ตัวอย่างภาวะความวิตกกังวลเฉพาะอย่าง
เป้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมต้น อายุ 16 ปี เป้มีอาการกลัวพายุฟ้าคะนอง ซึ่งเป็นอาการความกลัวที่ไร้เหตุผล อาการกลัวนี้มีมาตั้งแต่เป้อายุ 4 ขวบ และมีมาจนปัจจุบัน โดยเป้มักจะฟังข่าวพยากรณ์อากาศเสมอ และเมื่อมีการพยากรณ์ว่าจะมีพายุ เป้จะหลีกเหลี่ยงการออกนอกบ้าน ไม่เพียงแต่การอยู่ในบ้านเท่านั้น เป้จะเข้าไปอยู่ในห้องที่ไม่มีหน้าต่าง และไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าใด ๆ ทั้งสิ้น อาการดังกล่าวทำให้เป้ขาดเรียนบ่อย โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน แม้ว่าเป้รู้ว่าความกลัวดังกล่าวเป็นความกลัวที่ไร้เหตุผล
.
ส่วนสาเหตุการเกิดภาวะความวิตกกังวลเฉพาะอย่างนี้ พบว่าอาจเกิดจาก การมีความคิดทางด้านลบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือวัตถุที่ตนกลัวมากเกินไป
.
สาเหตุอีกประการได้แก่ การเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้องในอดีต เช่น ในอดีตบุคคลอาจได้รับความกลัวอย่างรุนแรงจาก สถานการณ์ หรือวัตถุ ทำให้บุคคลมีความกลัวแบบฝังใจ
.
การเลียนแบบจากพ่อ แม่ เพื่อน หรือบุคคลรอบข้าง อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ บุคคลเกิดความวิตกกังวลแบบเฉพาะอย่างได้
.
สาเหตุทางร่างกาย อาจเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองที่มีผลทำให้บุคคลมีอาการวิตกกังวลนี้ได้
.
การบำบัดรักษาความวิตกกังวัลเฉพาะอย่าง หรือ Specific Anxiety
.
สำหรับวัยรุ่นที่มีความวิตกกังวลเฉพาะอย่าง อาจพิจารณาการรักษา เมื่อเหตุการณ์ หรือวัตถุที่ตนกลัวนั้น ทำให้บุคคลไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ การได้รับการบำบัดรักษา ไม่ว่าจะเป็น ยา หรือการบำบัดโดยการพูดคุย หรือจิตบำบัด จากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา เป็นสิ่งที่จำเป็น
.
.
4. ภาวะความวิตกกังวลด้านสังคม หรือ Social Anxiety
.
วัยรุ่นที่มีภาวะความวิตกกังวลด้านสังคมจะมีความวิตกกังวล ความกลัวอย่างรุนแรง เมื่อตนต้องเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางสังคม เช่น การพูด หรือการนำเสนองานหน้าชั้นเรียน หรือการกลัวการที่จะพูดคุยโทรศัพท์ โดยผู้มีปัญหาความวิตกกังวลนี้ จะกลัวว่าตนจะถูกวิจารณ์ ถูกตำหนิ ทำให้ตนอับอายขายหน้า
.
โดยในวัยรุ่น พบว่า ความวิตกกังวลด้านสังคมนี้ พบในวัยรุ่นหญิงมากกว่าชายเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากวัยรุ่นหญิงให้คุณค่ากับการเข้าสังคมมากกว่าวัยรุ่นชาย
.
วัยรุ่นที่มีอาการความผิดปกติ ความวิตกกังวลด้านสังคมนี้ เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ทางสังคม จะแสดงออก โดยความกลัวอย่างรุนแรง จนเกิดอาการทางกาย และความคิด เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ เร็วผิดปกติ เหงื่อแตก มือสั่น ปวดท้อง มีความคิดทางลบ ว่าตนจะต้องอับอาย ต้องถูกวิพากษ์ วิจารณ์เชิงลบอย่างรุนแรง หรืออาจแสดงออกโดย อาการร้องไห้ กรีดร้อง กราดเกี้ยว ตัวแข็ง มือเย็น ตัวสั่น เมื่อต้องเจอสถานการณ์นั้น ๆ
ตัวอย่างกรณีศึกษา สำหรับวัยรุ่นที่มีความวิตกกังวลด้านสังคม
ลูกอม เป็นนิสิตอายุ 19 ปี มีอาการความวิตกกังวลอย่างมาก เมื่อนึกถึงสถานการณ์ที่ตนจะต้องออกไปรายงานหน้าชั้น ความวิตกกังวลดังกล่าวจะมีมากเป็นทวีคูณ เมื่อลูกอมจำเป็นที่จะต้องลงทะเบียนเรียนในวิชาที่มีคนเรียนเป็นจำนวนมาก โดยลูกอมจะไปนั่งที่หลังห้อง นั่งหลบหน้าหลบตาอาจารย์ผู้สอนเสมอ ๆ ในบางครั้งเมื่ออาจารย์ผู้สอนสุ่มถามคำถาม ลูกอมจะมีอาการตัวสั่น เหงื่อออก บางครั้งลูกอมก็จะวิ่งหนีออกไปนอกชั้นเรียน โดยที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ โดยจะวิ่งไปอยู่ที่หอพักของตนเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อควบคุมอารมณ์ของตนเอง
.
สาเหตุการเกิดภาวะความวิตกกังวลด้านสังคมอย่างนี้ พบว่าอาจเกิดจาก การมีความคิดทางด้านลบเกี่ยวกับตนเอง สิ่งแวดล้อม หรือสถานการณ์ทางสังคมมากเกินไป
.
สาเหตุอีกประการได้แก่ การขาดความภาคภูมิใจในตนเอง อีกทั้งการที่บุคคลมีความกลัวแบบฝังใจ ทำให้บุคคลเรียนรู้แบบไม่ถูกต้องต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ทางสังคม
.
สาเหตุทางร่างกาย อาจเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองที่มีผลทำให้บุคคลมีอาการวิตกกังวลได้
.
การบำบัดรักษาความวิตกกังวลด้านสังคม หรือ Social Anxiety
.
สำหรับวัยรุ่นที่มีความวิตกกังวลด้านสังคม จนทำให้บุคคลไม่สามารถเข้าสังคม หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ การได้รับการบำบัดรักษา ไม่ว่าจะเป็น ยา หรือการบำบัดโดยการพูดคุย หรือจิตบำบัด จากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา เป็นสิ่งที่จำเป็น
.
.
5. การเสพติด Internet
.
การเสพติด Internet พบได้บ่อยมากในสังคมยุคปัจจุบัน โดยจะเกิดขึ้นเมื่อ วัยรุ่นใช้เวลานานเกินไปบน internet หรือ computer โดยที่ตนไม่สามารถ หักห้ามใจที่จะไม่ใช้ internet หรือ computer ได้ จะรู้สึกหงุดหงิด โกรธ หรือก้าวร้าว เมื่อตนไม่ได้ใช้ Internet
.
วัยรุ่นที่มีปัญหาการเสพติด internet จะไม่มีสมาธิ ในการเรียน เนื่องจากมีความต้องการอยากใช้ internet เกือบตลอดเวลา ส่งผลทำให้ ชีวิตประจำวันที่ตนเคยทำนั้น เปลี่ยนแปลงไป เช่น รีบ ๆ รับประทานอาหารให้เสร็จ เพราะต้องการใช้ internet หรือบางครั้งพบว่าไม่ได้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ เพราะรู้สึกไม่อยากเลิกเล่น internet
.
สาเหตุการเสพติด Internet ในวัยรุ่น มักเริ่มจากการที่วัยรุ่นใช้ Internet เป็นเครื่องมือในการลดความรู้สึกไม่เป็นสุขต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเครียด ความเหงา ภาวะซึมเศร้า ความเบื่อ และความวิตกกังวลต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อบุคคลเหงา หรือเบื่อ วัยรุ่นหลายคนจึงใช้ Internet เป็นเครื่องมือในการจัดการกับความเหงา ความเบื่อ ภาวะวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า
.
นอกจากนี้นักจิตวิทยา พบว่า การติด Internet ในวัยรุ่น มักสัมพันธ์กับ ปัญหาความวิตกกังวลเรื้อรัง ปัญหาเกี่ยวกับการใช้สารเสพติดอื่น ๆ ปัญหาการดูเว็บไซต์เพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ปัญหาทางด้านสัมพันธภาพ และปัญหาความเครียดเรื้อรัง อีกด้วย
ตัวอย่างการเสพติด Internet ในวัยรุ่น
เอ เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ติดเกมออนไลน์ บนมือถือ โดย เอ เล่นเกม เกือบตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลารับประทานอาหาร รวมทั้งระหว่างพูดคุยกับคนรอบข้าง เมื่อพ่อแม่ เอ ห้ามเอไม่ให้เล่นเกม เอ แสดงออกด้วยความโกรธอย่างรุนแรง เอใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเล่นเกมมือถือ ทำให้พักผ่อนน้อย การเรียนตกต่ำ เป็นต้น
.
สำหรับการบำบัดรักษา หากบุตรหลานของท่าน มีปัญหาการเสพติด internet อย่างรุนแรง และท่านประเมินแล้วว่าท่านต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
.
การบำบัดรักษาการเสพติด Internet
.
การได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบ การปรึกษาเชิงจิตวิทยา หรือจิตบำบัดสามารถช่วยลดปัญหา และระดับความรุนแรงของการเสพติด internet ได้ กล่าวโดยคร่าว ๆ นักจิตวิทยาคลินิก และนักจิตวิทยาการปรึกษา จะช่วยปรับเปลี่ยนความคิดของบุคคล ที่สัมพันธ์กับการใช้ internet นักจิตวิทยายังสามารถช่วยประเมินปัจจัยทางด้านจิตใจ และพฤติกรรมของท่าน หรือบุตรหลานของท่านที่อาจส่งผลต่อการเสพติด internet อีกด้วย
.
การทำความรู้จักปัญหาทางสุขภาพจิตในวัยรุ่น เหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ ต่อพ่อ แม่ และผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นวัยรุ่น ในการสังเกตอาการเบื้องต้น และนำไปสู่การช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว
.
…………………………………………………………………………………..
จากบทสารคดีทางวิทยุ รายการ “จิตวิทยาเพื่อคุณ”
โดย อาจารย์ ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
……………………………………………………………………………………..