พ่อแม่จะทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นเพศที่ 3

Posted by

คุณเริ่มสังเกตเห็นว่าลูกของคุณเป็นเพศที่สามในช่วงอายุใด?

ถ้าสังเกตุเห็นในช่วงเด็กเล็กอายุไม่เกิน 6-7 ปี เช่น เด็กผู้ชายชอบเล่นตุ๊กตา หรือชอบสีชมพู หรือเป็นผู้ชายเรียบร้อยไม่เล่นโลดโผน แล้วคิดว่าเด็กเป็นเพศที่สาม… คุณควรสังเกตุต่อไป เพราะในช่วงนี้ยังเป็นช่วงไม่แน่นอนว่า เด็กจะเป็นเพศที่ 3 หรือไม่ เด็กผู้ชายหลายคนเป็นเด็กผู้ชายที่เรียบร้อยหรืออาจมีความทรงจำอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาชอบสีชมพู หรือแม้แต่เด็กผู้ชายบางคนอยากลองกอดตุ๊กตาดูบ้าง คุณไม่ควรตกใจ แต่ถ้าคุณไม่ชอบให้ลูกของคุณมีพฤติกรรมเช่นนี้ คุณควรใช้หลักการปรับพฤติกรรมเข้าช่วย เช่น ทุกครั้งเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมไม่ตรงตามเพศ ให้คุณเฉย ๆ ไม่ต้องสนับสนุนหรือพูดอะไร หรือคุณอาจเบี่ยงเบนความสนใจให้เด็กไปสนใจอย่างอื่นที่ตรงกับพฤติกรรมของเพศของลูก แต่เมื่อลูกของคุณแสดงพฤติกรรมที่ตรงตามเพศ แล้วคุณพอใจให้คุณแสดงท่าทางชื่นชมหรือให้รางวัล การชื่นชมในบทบาททางเพศที่เหมาะสมกับเพศของเด็กจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมตรงตามเพศ ยกตัวอย่างเช่น คุณอยากได้ลูกชาย ลูกของคุณเกิดมาเป็นเพศชาย คุณรู้สึกชื่นชมในความเป็นผู้ชายของลูกคุณแสดงความชื่นชมก็แสดงได้ทุกครั้งที่ลูกของคุณแสดงพฤติกรรมของความเป็นชาย เช่น การเป็นผู้นำ การเล่นของเล่นของเด็กผู้ชาย หรือแม้กระทั้งซนแบบเด็กผู้ชาย ลูกของคุณก็จะรับรู้สิ่งที่คุณคาดหวังให้เขาเป็น เขาก็จะเป็นเด็กผู้ชายที่มีพฤติกรรมความเป็นชายตามที่คุณต้องการ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณยากได้ลูกชาย แต่ลูกเกิดมาเป็นผู้หญิง การปฏิสัมพันธ์ของคุณกับลูกก็ออกมาในทิศทางตรงข้าม เด็กก็จะเริ่มรู้ได้ว่าการเป็นผู้หญิงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ชื่นชม ลูกของคุณก็จะซึมซับพฤติกรรมของความเป็นหญิงเข้าสู่ตนทั้งในรูปของความคิดและพฤติกรรม

พ่อแม่จะทำอย่างไรเมื่อพบว่าลูกเป็นเพศที่ 3

ถ้าคุณพบว่าลูกของคุณมีพฤติกรรมของเพศที่สามเมื่อลูกของคุณโตแล้ว (เกิน 10 ปีขึ้นไป) คุณควรจะยอมรับในความเป็นเพศที่ 3 ของลูกของคุณ เพราะลูกของคุณได้ก่อสร้างบุคลิกภาพที่มั่นคงของเขาแล้ว การไปปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพของเด็กก็จะส่งผลต่อความขัดแย้ง ดังนั้นพ่อแม่จะทำอย่างไรเมื่อพบว่าลูกเป็นเพศที่สาม ก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่คุณสังเกตุเห็น ถ้าเป็นช่วงเล็ก ๆ คุณจะมีเวลาพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กได้ แต่ถ้าพบเมื่อโตแล้วคุณควรยอมรับ เพราะการเป็นเพศที่ 3 ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ดีกว่าคนที่มีพฤติกรรมที่ตรงตามเพศแล้วเป็นผู้ร้ายหรือเป็นปัญหาในสังคมในทางจิตวิทยา การเป็นเพศที่ 3 ถือว่าไม่ใช่ลักษณะของบุคคลที่ผิดปกติ และในสมาคมจิตวิทยาอเมริกันก็ได้ถอดถอนพฤติกรรมเพศที่ 3 ออกจากความผิดปกติทางจิต รวมทั้งในตำราพฤติกรรมผิดปกติในปัจจุบันก็ไม่ปรากฏลักษณะพฤติกรรมเพศที่ 3 อยู่ในบทเรียน ดังนั้นเราจึงสรุปได้ว่า พฤติกรรมของเพศที่ 3 ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด ทั้งยังมีการยอมรับอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากการมีบุคคลที่มีพฤติกรรมเพศที่ 3 จำนวนมากที่มีชื่อเสียงและทำประโยชน์ให้กับสังคมในวงการต่าง ๆ เช่น วงการแฟชั่น นักวิชาการ วงการออกแบบ และอื่น ๆ อีกมาก

แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าคุณพ่อคุณแม่ยอมรับให้ลูกมีพฤติกรรมเพศที่ 3 ไม่ได้ ก็มักจะเกิดปัญหาตามมา นั่นก็คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคุณพ่อคุณแม่เอง และปัญหาที่เกิดกับตัวของลูกโดยตรง ซึ่งเมื่อคุณพ่อคุณแม่และลูกมีปัญหาก็จะส่งผลต่อสายสัมพันธ์ภายในครอบครัว ครอบครัวจะไม่มีความสุข และจะมีความเครียดเข้ามาแทนที่ นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียง Lazarus ได้เขียนหนังสือชื่อว่า “Patterns of Adjustment” ที่เกี่ยวกับรูปแบบของการปรับตัว โดยกล่าวว่าวิธีการปฎิบัติที่ไม่ถูกต้องของพ่อแม่ที่มีต่อลูกที่มีพฤติกรรมเพศที่ 3 จะส่งผลร้ายต่อลูกทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ (Lazarus, 1976) นอกจากนั้นการที่ลูกรับรู้เจตคติของพ่อแม่ต่อการมีพฤติกรรมเพศที่ 3 ก็จะทำให้ลูกเกิดพฤติกรรมของการบิดบัง หรืออาจพยายามสร้างพฤติกรรมขึ้นมาเพื่อปกปิดพฤติกรรมที่แท้จริง ซึ่งการปิดบังสถานะภาพของการเป็นบุคคลเพศที่ 3 จะส่งกระทบในทางลบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของบุคคลนั้น (Ulrich etal., 2003) ดังนั้นบุคคลที่มีพฤติกรรมเพศที่ 3 ที่สามารถเปิดเผยสถานะภาพของตนเอง จัดการกับเอกลักษณ์ทางเพศและสังคมที่ตนอาศัยอยู่ ก็จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุข

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่ค้นพบว่าลูกมีพฤติกรรมเพศที่ 3 ควรยอมรับความจริง และขอให้คิดเสมอว่า บุคคลที่มีพฤติกรรมเป็นเพศที่ 3 ไม่ใช่คนที่มีพฤติกรรมเลวร้าย ลูกของคุณยังเป็นบุคคลที่มีประโยชน์ในสังคมและเป็นประชากรเล็ก ๆ คนหนึ่งที่สามารถจะสร้างสังคมให้น่าอยู่ และเป็นประโยชน์กับสังคมต่อไปในอนาคต

ความสำคัญในการยอมรับลูกที่มีพฤติกรรมเพศที่ 3 ของครอบครัว

ครอบครัวเป็นหน่วยของสังคมที่เล็กที่สุด และเป็นหน่วยของสังคมหน่วยแรกที่เด็กเติบโตและอาศัยอยู่ ดังนั้น การยอมรับในตัวลูกซึ่งมีพฤติกรรมเพศที่ 3 ของครอบครัวจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ครอบครัวที่ไม่เข้าใจจะส่งผลให้เด็กเกิดความเครียดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่นความเครียดที่เกิดขึ้นน่าจะส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เช่น การปิดบัง การเกิดอาการซึมเศร้า หรือมีพฤติกรรมอื่น ๆ มีการศึกษาพบว่า เมื่อพ่อแม่รับรู้ว่าลูกของตนมีพฤติกรรมเพศที่ 3 แล้ว นอกจากจะไม่ให้การสนับสนุน ยังตัดความช่วยเหลือต่าง ๆ เช่นการสนับสนุนด้านการศึกษา หรือไล่ออกจากบ้านในบางราย และเมื่อเด็กเกิดความกดดันในหลาย ๆ ด้าน ก็อาจทำให้เกิดการคิดที่จะฆ่าตัวตายได้ ดังนั้นการที่พ่อแม่ยอมรับในการมีพฤติกรรมเป็นเพศที่ 3 ของลูก จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่อย่างไรก็ตามการเปิดเผยในสถานะภาพของการเป็นเพศที่ 3 ยังเป็นเรื่องที่ยาก มีการศึกษาของ คุณมัทนา เชตมี (2539) พบว่าการเปิดเผยสถานะภาพของคนที่มีพฤติกรรมเพศที่ 3 ต่อครอบครัว โดยเฉพาะการเปิดเผยต่อบุคคลที่มีความสำคัญในชีวิต เช่น พ่อ แม่ พี่น้องของตนเป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก เนื่องจากบุคคลเพศที่ 3 จะไม่กล้าเปิดเผยเพราะกลัวว่าการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของตนจะทำให้บุคคลที่ตนรักรู้สึกเสียใจกับพฤติกรรมเพศที่ 3 ของตน ดังนั้นบุคคลพวกนี้จึงพยายามหลีกเลี่ยงหรือปกปิดมากกว่า และจากการปกปิดตัวตนนี้เองทำให้ตนรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจทุกครั้งที่เผชิญหน้ากับบุคคลภายในครอบครัว ในทางกลับกันก็มีงานวิจัยสนับสนุนว่า หากครอบครัวให้การยอมรับในสถานะภาพการมีพฤติกรรมเป็นเพศที่ 3 ของลูก ก็จะทำให้ชีวิตของบุคคลนั้นดำเนินไปด้วยความสุข และมีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นการช่วยให้บุคคลที่มีพฤติกรรมเป็นเพศที่ 3 สามารถพัฒนาเอกลักษณ์ทางเพศของตนไปในทางบวก มีเจตคติที่ดีต่อตนเองรวมถึงมีความภาคภูมิใจในตัวเองเพิ่มสูงขึ้นด้วย

การเปิดเผยสถานะภาพของการเป็นเพศที่ 3

ตัวอย่างงานวิจัยของ คุณอรุณี ศุทธิชัยทิต ซึ่งทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง “ปัจจัยคัดสรรที่สัมพันธ์กับการเปิดเผยสถานภาพของหญิงรักเพศเดียวกันในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นต่อครอบครัว” พบว่า มีปัจจัยหลายปัจจัยที่สามารถท้าทายได้ถึงการกล้าเปิดเผยตัวตนของบุคคลที่มีพฤติกรรมเพศที่ 3 ต่อครอบครัว เช่น ปัจจัยรูปแบบของการเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ นั่นก็คือ ในครอบครัวแบบที่มักจะใช้เหตุผลในการอบรมเลี้ยงดูหรือพูดคุยกับลูกรวมทั้งกระตุ้นให้ลูกมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะของการสื่อสารในครอบครัวแบบเปิด จะเอื้อให้ลูกที่มีพฤติกรรมเพศที่ 3 กล้าเปิดเผยสถานะภาพพฤติกรรมเพศที่ 3 ของตน ดังนั้นครอบครัวที่เลี้ยงลูกอย่างมีเหตุผลลูกสามารถปรึกษาปัญหาได้ทุกเรื่อง จะเป็นครอบครัวที่เด็กที่มีพฤติกรรมเพศที่ 3 กล้าที่จะบอกตัวตนที่แท้จริงของเขา นอกจากนั้นปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการกล้าเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของเด็กก็คือ ปัจจัยที่เกี่ยวกับการคาดการณ์ผลลัพธ์ของครอบครัวที่มีต่อการเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมเพศที่ 3 ของตน กล่าวคือ ถ้าบุคคลที่มีพฤติกรรมเพศที่ 3 คาดการณ์ว่าพ่อแม่ของตนจะยอมรับการเป็นเพศที่ 3 ของตนได้ โดยมีผลของการคาดการณ์ทางบวก บุคคลก็จะมีแนวโน้มของการเปิดเผยสถานะภาพเพศที่ 3 ของตน แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าบุคคลคาดการณ์ว่าหลังจากที่ตนเปิดเผยสถานะภาพการเป็นเพศที่ 3 ของตนจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ทางลบ เช่น จะทำให้ผู้เลี้ยงดูตนเสียใจ โกรธ หรือตำหนิตน บุคคลก็จะเลือกที่จะไม่เปิดเผยสถานะภาพการเป็นเพศที่ 3 ของตน ดังนั้นการคาดการณ์ของเด็กเกี่ยวกับเจตคติความคิดของพ่อแม่เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปิดเผยสถานะภาพการเป็นเพศที่ 3 ของเด็ก

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การที่เด็กจะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยสถานะภาพของการเป็นเพศที่ 3 ของตน อยู่ที่ตัวของพ่อแม่เอง ไม่ว่าจะเป็นเจตคติ การปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น การสื่อสาร รวมถึงการให้ความรักความเอาใจใส่ การเปิดกว้างในความคิดของพ่อแม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะส่งผลให้เด็กกล้าเปิดเผยตนเอง และจะนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในครอบครัว

เราจะป้องกันอย่างไรถ้าพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกเป็นเพศที่ 3

ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกเป็นเพศที่ 3 เราก็สามารถมีวิธีการเลี้ยงลูกให้ลูกมีพฤติกรรมที่ตรงตามเพศของตน วิธีเหล่านี้ควรปฏิบัติมาตั้งแต่เด็กยังเล็ก ๆ จะเริ่มมาปฏิบัติเมื่อเด็กโตแล้วก็จะไม่ได้ผล วิธีเหล่านี้ที่พอสรุปได้ดังนี้

  1. ชื่นชมในบทบาทที่ตรงตามเพศที่ลูกเป็น เช่น ลูกคุณเป็นผู้หญิงคุณก็ควรชื่นชมในบทบาทของความเป็นผู้หญิงของลูกคุณ การชื่นชมนี้อาจเป็นการมองด้วยความชื่นชม หรือพูดชื่นชมในพฤติกรรมความเป็นผู้หญิงของลูกของคุณ เชื่อว่าถ้าคุณชื่นชมในบทบาทความเป็นผู้หญิงของลูกคุณ ลูกคุณจะไม่เป็นเพศที่ 3 อย่างแน่นอน

  2. พ่อแม่ควรมีบทบาทที่ตรงตามเพศของตัวเอง ลักษณะนี้จะช่วยเป็นแบบอย่างให้กับเด็ก โดยเด็กชายจะเลียนแบบบทบาทเพศชายจากพ่อ ในขณะที่เด็กผู้หญิงจะเลียนแบบบทบาทความเป็นหญิงจากแม่ แต่ถ้าพ่อและแม่มีบทบาทที่สับสน ก็จะสร้างความสับสนให้กับลูกเช่นเดียวกัน

  3. ยอมรับและคาดหวังลูกในบทบาททางเพศที่ตรงตามเพศของลูก นักจิตวิทยาพัฒนาการหลายคนกล่าวว่า เด็กคือนักจิตวิทยาที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง เด็กจะรู้ความคาดหวังของพ่อแม่เกี่ยวกับตัวเองของเขา รวมทั้งรู้ว่าพ่อแม่คาดหวังให้เขาเป็นอะไร ยอมรับความตรงตามเพศของเขาหรือไม่ ดังนั้นพ่อแม่ควรเปิดใจให้กว้างในการที่จะยอมรับความตรงตามเพศของเด็ก ถึงแม้ว่าในบางครั้งความตรงตามเพศของเด็กอาจไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ต้องการ เช่น พ่อแม่อยากได้ลูกสาวแต่ลูกเกิดมาเป็นผู้ชาย พ่อแม่ก็เลยแต่งตัวลูกให้เป็นผู้หญิงเลี้ยงดูแบบเด็กผู้หญิง พอเด็กเติบโตขึ้นก็จะเป็นเพศหญิง หรือกลายเป็นเพศที่ 3 เป็นต้น

**********************************************

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ประไพพรรณ ภูมิวุฒิสาร

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

**********************************************

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s