วันนี้เป็นวันที่น่าตื่นเต้นและสนุกสนานอีกครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะเป็นวันที่จะได้ลงไปสนทนากลุ่ม (Focus group) กับเด็กๆ ณ โรงเรียนระดับประถมศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร การสนทนากลุ่มเต็มไปด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตร เด็กๆ ที่มาพร้อมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะเด็กๆ รับทราบว่าพวกเขาถือเป็นตัวแทนของเด็กไทยในช่วงอายุ 10-12 ปีที่จะมาให้ข้อมูลว่าในวัยของพวกเขานั้น เขาเสพสื่ออะไรบ้าง? สื่อมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง? และถ้าเป็นรายการสำหรับคนในวัยของพวกเขาแล้ว เขาอยากได้รายการแบบใด?
คำตอบที่ได้หลายเรื่องน่าสนใจ เช่น เด็กวัยนี้ชอบรายการที่เป็นรายการเสมือนจริง (Reality Shows) มากกว่ารายการแบบเด็กเล็กที่เป็นการ์ตูนและดำเนินเรื่องราวช้าๆ ซ้ำๆ เพราะเด็กเรียนรู้แล้วว่าอะไรคือโลกแห่งความจริง และอะไรคือโลกสมมติ เด็กอยากได้เนื้อหาสาระที่สามารถไปช่วยพวกเขาแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน สิ่งที่พวกเขาสนใจยังเป็นเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวของกับพัฒนาการตามวัยของพวกเขา การแก้ปัญหาเวลาอยู่กับเพื่อน การมีสัมพันธภาพในครอบครัว พวกเขาบอกว่า “พวกผมก็เครียดเรื่องเรียน เรื่องครอบครัวและเรื่องเพื่อนได้นะครับ” วัยนี้เป็นวัยที่จะก้าวเข้าสู่วัยรุ่นในไม่ช้า ฉะนั้นเรื่องเครียดก็คงมากขึ้นจริงๆ
พวกเด็กๆ ยังชอบหาความบันเทิงใส่ชีวิต ดังนั้นการดูละคร รายการที่มีเนื้อหาสนุกสนาน และภาพยนตร์ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทว่าพวกเขายังสนใจเกมโชว์ เกมตอบปัญหา และสารคดีด้วย เพราะพวกเขาอยากได้สาระและความรู้เช่นกัน แม้ว่าจะสนใจน้อยกว่าละครและภาพยนตร์ก็ตามเถอะ
ที่น่าสนใจมากคือ เด็กๆ เหล่านี้เสพสื่อแทบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย (เช่น Facebook, Youtube, Instragram เป็นต้น) เด็กส่วนใหญ่บอกว่าพวกเขาชอบดูรายการต่างๆ ละคร หนัง และสารคดี ผ่านช่องทาง Youtube ที่เป็นเช่นนี้เพราะทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ต้องการความต่อเนื่องและเบื่อโฆษณา” (สิ่งนี้คงไม่ต่างจากผู้ใหญ่อย่างเราๆ เช่นกัน) เด็กๆ ยังใช้เวลาในการเล่นเกมทางอินเทอร์เน็ต และที่หลายคนชอบมากคือ ดู Cast Game จาก Youtube
เมื่อถามว่าพวกเขาใช้เวลาโดยเฉลี่ยกี่ชั่วโมงต่อวันในการเสพสื่อ แน่นอนว่าไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ใช้สมาร์ทโฟน รอรถ อยู่ใน BTS นั่งรถเมล์ รอพ่อแม่มารับกลับจากโรงเรียนก็ดูได้ กลับมาถึงบ้านก็ดูได้ ผู้ปกครองบางท่านอาจจะไม่เห็นด้วย เพราะทางบ้านมีการกำหนดเวลาในการดูสื่อและเล่นอินเทอร์เน็ต คำถามคือ ท่านทำได้จริงหรือ? เพราะเด็กๆ บอกว่า พวกเขาแอบดูและส่วนใหญ่แอบดูหนัง ละคร และรายการที่มีเนื้อหาที่ไม่อยู่ในขอบเขตที่ผู้ปกครองกำหนดทั้งสิ้น!
การศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า การปล่อยให้เด็กเสพสื่อต่างๆ ตามลำพังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การถูกชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย เช่น การมีแฟน (ที่ไม่ดี) การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการถูกล่อลวงให้กระทำพฤติกรรมใดๆ ก็ตามที่เป็นอันตรายต่อตัวเด็ก การเสพสื่อที่มีเนื้อหาก้าวร้าวรุนแรง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างเสริมพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็ก นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจของเด็กด้วย ในเด็กบางคนอาจมีภาวะซึมเศร้าจากการเสพสื่อได้เช่นกัน
คงต้องมาตั้งคำถามกันว่า เราในฐานะผู้ปกครองและเป็นบุคคลใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดควรทำอย่างไร?
แน่นอนว่าเราไม่สามารถควบคุมและป้องกันเด็กได้ตลอดเวลา หน้าที่ของเราที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็น การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก และเป็นแบบอย่างของการเสพสื่อแก่เด็ก
การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ คือ การที่เราพยายามอยู่กับเด็กอย่างเข้าใจ ทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าการเป็นพ่อแม่ไม่ได้มีช่องว่างที่ห่างจนเกินไปกับลูก พ่อแม่ไม่ได้มีหน้าที่เลี้ยงดู ให้เงิน หรือบังคับให้เรียนพิเศษเพียงเท่านี้ แต่พ่อแม่ยังสามารถเป็นเพื่อนที่คอยให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาและเติบโตไปพร้อมกับพวกเขาได้ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นก้าวแรกที่จะช่วยให้เด็กๆ เปิดใจบอกเล่าและสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของพวกเขาสู่ผู้ใหญ่อย่างเราได้รับฟัง สิ่งที่จำเป็นต่อจากนั้นคงเป็นการใช้เวลาเสพสื่อบางอย่างร่วมกันเพื่อสร้างโอกาสที่จะสอนและแสดงความคิดเห็นในฐานะผู้มีประสบการณ์มากกว่า ตรงนี้เองจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กได้
นอกจากนี้ผู้ใหญ่อย่างเราคงต้องเป็นแบบอย่างในการเสพสื่อและเลือกสรรกิจกรรมที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิต ผู้ใหญ่อย่างเราเองก็น่าจะใช้สมาร์ทโฟนลดลง หากิจกรรมสนุกๆ ทำร่วมกับครอบครัวมากขึ้น แน่นอนสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาและความเอาใจใส่จากผู้ปกครองเป็นอย่างมาก หลายท่านอาจคิดว่าไม่มีเวลามากพอที่จะทำได้ เพราะภาระหน้าที่ของเราต่างกัน ใช่…ทุกคนมีภาระต่างกันมากมาย คนมีเวลามากก็พูดได้ แต่สิ่งที่น่าคิดและอยากถามต่อมาคือ ท่านอยากให้ลูกๆ ของท่านเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน? อยากให้เขามีชีวิตอย่างไร? สังคมต่อไปในอนาคตจะเป็นอย่างไร? เพราะลูกของเราก็คือส่วนหนึ่งของสังคมและเขาก็จะเป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากสังคมด้วยเช่นกัน ดังนั้นมันถึงเวลาแล้วใช่หรือไม่ที่เราควรใส่ใจเรื่องเหล่านี้?
รายการอ้างอิง
O’Keeffe, G.S., &Clarke-Pearson, K. (2011). Clinical report: The impact of Social Media on children, adolescents, and families. Pediatrics, 2011, 799-805. DOI:
10.1542/peds.2011-0054.
Strasburger, V. C., & Hogan, M. J. (2013). Children, adolescents, and the media. Pediatrics, 2013, 958-953. DOI: 10.1542/peds.2013-2656.
Winpenny, E. M., Marteau, T. M., & Nolte, E. (2014). Exposure of children and adolescents to alcohol marketing on social media websites. Alcohol and Alcoholism, 49(2), 154-159.
********************************************
บทความวิชาการ โดย
อาจารย์ ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
*********************************************